บมจ.ลานนารีซอร์สเซส(LANNA)คาดเหมืองถ่านหินแห่งที่ 3(SGP)ในอินโดนีเซียจะเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ราวปลายไตรมาส 1/52 หรือต้นไตรมาส 2/52 โดยปีแรกจะผลิตได้ราว 1 ล้านตัน จากกำลังผลิตเต็มที่ 2 ล้านตัน ขณะที่เหมืองแห่งที่ 1 กำลังรอการอนุญาตกลับมาเปิดทำการอีกครั้งจากที่ต้องปิดปรับปรุงหลังถูกฝนถล่มยับ คาดว่าทางการอินโดนีเซียจะเซ็นเอกสารภายในต้นเดือน มี.ค.นี้
ขณะที่ผู้บริหารยอมรับส่อเค้าแย่ตั้งแต่ต้นปี ไม่มีถ่านหินที่ผลิตเองออกขาย แถมภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว ผลงานไตรมาสแรกยังต้องรอลุ้นกำไรหากช่วงปลายมีถ่านหินออกขายได้บ้างแม้จะหลุดเป้า รวมทั้งนำผลกำไรจากเอทานอลมาชดเชย ส่วนทั้งปี 52 ยังมองภาพลำบากว่าจะออกมาหัวหรือก้อย ทั้งยอดขายและการประเมินสินค้าคงคลัง ต้องรอดูภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวจะมีโอกาสฟื้นหรือไม่ ขณะที่มั่นใจปริมาณถ่านหินมีในมือถึง 2.5-3.0 ล้านตัน
ด้านธุรกิจเอทานอลปีนี้ยังพอไปได้ ยอดขายไม่น่าจะต่ำกว่าปีก่อนที่ทำยอดขาย 50 กว่าล้านลิตร ซึ่งมีกำไรราว 200 ล้านบาท ยืนยันพร้อมเริ่มก่อสร้างโรงงาน 2 แน่ปีนี้ และเตรียมยื่นไฟลิ่ง"ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่"ในช่วงไตรมาส 2/52 ส่วนจะขายเมื่อใดขอรอดูจังหวะเหมาะ
*รับไตรมาส 1 แย่กว่าปีก่อน ผลผลิตชะงักหลังเหมือง 1-เหมือง 3 ยังเดินเครื่องไม่ได้
นายอนันต์ เล้าหเรณู กรรมการ LANNA กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทกำลังเร่งรัดอย่างเต็มที่เพื่อเปิดเหมืองแห่งที่ 3 คาดว่าจะเดินเครื่องได้ราวปลายไตรมาส 1/52 ถึงไตรมาส 2/52 เพื่อทดแทนเหมืองแห่งที่ 2 ที่ต้องปิดไปเมื่อปลายปีก่อน โดยคาดว่าจะมีผลผลิตออกมาราว 1 ล้านตันในปีแรก จากกำลังผลิตเต็มที่ 2 ล้านตัน
ส่วนเหมืองแห่งที่ 1 ที่ต้องปิดปรับปรุงหลังจากภาวะฝนตกหนักตั้งแต่ปลายปีที่ก่อน ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นตามข้อกำหนดหมดแล้ว รอทางการอินโดนีเซียเซ็นเอกสารอนุญาตให้เปิดอย่างเป็นทางการ คาดว่าน่าจะเป็นภายในครึ่งแรกของเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งเหมืองแห่งนี้มีกำลังผลิต 1.5-2.0 ล้านตัน
"เหมือง 3 คงไม่ได้เลื่อนอะไรมากมายเพราะจบหมดแล้ว ประมาณปลายไตรมาส 1 หรือต้นไตรมาส 2 จะผลิตถ่านได้ ยืนยันปีนี้มีของขายแน่นอน กำลังเร่งรัดอยู่ เพราะช่วงนี้ไม่รู้ดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไร เบื้องต้นปีแรกจะผลิต 1 ล้านตัน ปีต่อไปเรามีกำลังผลิตเต็มที่ 2 ล้านตันสำหรับเหมืองนี้" นายอนันต์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/52 ยอมรับว่าคงออกมาแย่กว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนแน่นอน แม้ว่าจะมีกำไรจากเอทานอลมาชดเชยบ้าง เนื่องจากไม่มีผลผลิตถ่านหินจากเหมืองของตัวเองออกมาเลย มีแต่ถ่านหินในคลังสินค้าที่อยุธยาที่บริษัทสต็อกไว้ราว 7-8 หมื่นตัน จากปริมาณสต็อก 1 แสนกว่าตัน ซึ่งหากเหมืองแรกเปิดได้ในเดือนนี้อาจจะมีผลผลิตออกมาบ้างราว 1 ลำ
"ก็เห็นอยู่แล้ว 2 เดือนไม่มีถ่านจากเหมืองขาย มีแต่ถ่านจากที่มีอยู่ในประเทศไทยที่สั่งเข้ามาเก็บเหมือนบริษัทอื่นเค้า เชื่อว่าไตรมาส 1 ยอดขายถ่านหินไม่ได้ตามเป้าแน่ ถ้าเทียบกับปีที่แล้วคงแย่แน่นอน ส่วนจะเป็นกำไรหรือไม่ บอกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้อาจจะไม่แน่ถ้าไม่มีถ่านหินออกเลยก็คงจะไม่ได้ แต่ถ้ามีถ่านหินออกมาก็พอจะเป็นค่าต้นทุนมาชดเชยได้บ้าง ต้องดูเอทานอลมาชดเชยเพราะไม่มีปีญหา น่าจะเอากำไรเอทานอล 75% มาชดเชยกันได้ก็ไม่น่าจะขาดทุน แต่กำไรคงไม่มี ยืนยันได้เลยว่าคงสู้ปีที่แล้วไม่ได้แน่ แต่จะขาดทุนหรือเปล่าต้องดูนิดหนึ่งว่าจะยันกันอย่างไร" นายอนันต์ กล่าว
ด้านราคาถ่านหิน ในไตรมาส 1/52 บริษัททำสัญญาขายไว้โดยมีราคาในช่วง 70-90 เหรียญฯ/ตัน แต่ขณะนี้ราคาตลาดต่ำกว่า 70 เหรียญฯ/ตัน เหลือประมาณ 60 เหรียญฯ/ตัน ขึ้นอยู่กับสเปกของถ่านหิน ซึ่งขณะนี้ราคาตลาดโลกต่ำ ขณะที่ปีที่แล้วเฉลี่ยขายอยู่ในช่วง 60 เหรียญฯ/ตัน ทำให้บริษัทมี stock loss ในปี 51 ราว 60 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่บริษัทจะต้องบริหารสต็อกที่เหลืออยู่ โดยขณะนี้จำหน่ายไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว
ส่วนทั้งปีจะผลิตเพื่อขายได้ตามเป้าหรือไม่ นายอนันต์ กล่าวว่า ยังไม่แน่นอนเพราะเศรษฐกิจแบบนี้คงไม่มีใครบอกได้ แต่ถ้ามองในแง่ร้ายคงจะยากหน่อย ซึ่งปริมาณผลผลิตจากเหมืองทั้งสองแห่งน่าจะยังทำได้ 2.5 ล้านตัน และสั่งซื้อมาขายอีกราว 3-4 แสนตัน ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่นำเข้ามา 7-8 แสนตัน รวมทั้งหมดถ้ายังขายได้ก็จะใกล้เคียงกับปีก่อน แต่มองแนวโน้มดูจะแย่กว่า
"อะไรที่ไม่แน่นอนเราสำรองไปเกือบหมดแล้ว เพราะฉะนั้นปีนี้ความไม่แน่นอนอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจที่จะกระทบว่าเราจะขายได้หรือไม่ได้ แต่เรื่องค่าใช้จ่ายพิเศษอะไรไม่มีแล้วสำรองไปหมดแล้ว ไม่เช่นนั้นปีที่แล้วเรากำไรมากกว่าตอนสิ้นปีเราสำรองทั้งสต็อก 60 กว่าล้านบาท และสำรองรายการที่จะมีปัญหาอะไรใส่ไปทั้งหมดแล้ว" นายอนันต์ กล่าว
LANNA จะเสนอการจ่ายเงินปันผลของงวดปี 51 ให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาวันที่ 16 มี.ค.นี้ ซึ่งนโยบายยังจ่าย 60% ไม่ต่ำกว่านั้น จากงวดกลางปีจ่ายไปแล้ว 0.40 บาท/หุ้น
*เอทานอลยังไปได้ดี-ลงเข็ม รง.2 ปีนี้-ยื่นไฟลิ่ง"ไทย อะโกรฯ"ใน Q2/52
นายอนันต์ กล่าวว่า ในปีนี้ธุรกิจเอทานอลยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาในช่วงไตรมาส 1/52 ที่ทำสัญญาขายล่วงหน้าตั้งแต่ปลายปี 51 ได้ราคาที่น่าพอใจ วัตถุดิบส่วนใหญ่จะมีคุณภาพดีเพราะเป็นช่วงต้นฤดู แต่ไตรมาส 2 อาจจะได้ราคาไม่ดีนัก โดยขึ้นอยู่กับราคาเอทานอลในตลาดช่วงต้นปี แต่คาดว่าทั้งปี 52 รายได้เอทานอลไม่น่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยไตรมาส 1 น่าจะขายได้ประมาณ 11 ล้านลิตร จากทั้งปี 51 มียอดขายประมาณ 50 กว่าล้านลิตร และกำไรเฉพาะเอทานอลก็ประมาณ 200 กว่าล้านบาท
"เอทานอลตอนนี่พูดจริงๆ ก็คือล้นตลาดแต่ของเราอยู่ในทำเลที่ดี และของเรามี 1.5 แสนลิตรต่อวัน คงไม่มีปัญหา ส่วนโรงที่ 2 เราก็คิดว่าจะเริ่มไม่เริ่มดีในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ฉะนั้นเราก็ไม่ได้รีบเร่ง แตึ่คิดว่ายังไงปีนี้อาจจะต้องตอกเข็ม" นายอนันต์ กล่าว
สำหรับ บมจ.ไทย อะโกร เอ็นเนอร์ยี่ คาดว่าจะยื่นไฟลิ่งได้ภายในไตรมาส 2/52 นี้ หลังจากผลประกอบการย้อนหลังตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตลท.)จะเรียบร้อยในเดือน มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะขายหุ้น IPO ได้หรือไม่ ขึ้นกับภาวะตลาดที่เหมาะสม