นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ในฐานะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) พิจารณาจ่ายเงินชดเชยสำหรับก๊าซ LPG จากการนำเข้าในปี 51 จำนวนเงินประมาณ 7,948 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนเงินชดเชยให้กับ บมจ.ปตท.(PTT) ตั้งแต่เดือน เม.ย.52 ให้ครบภายใน 2 ปี หลังจากสิ้นสุดมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตแล้ว
ส่วนภาระหนี้ใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.พ.) เดือนละ 240 ล้านบาทนั้นให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซหุงต้ม(LPG) ตั้งแต่เดือน ม.ค.52 เป็นต้นไป ในวงเงินไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาท โดยให้จ่ายคืน ปตท.ทันที รวมทั้งหนี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไป โดยคาดว่าปีนี้จะมีการนำเข้าราว 2 แสนตัน ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก ทำให้คนหันไปใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เป็นไปตามมติของคณะกรรมนโยบายแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมาในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาก๊าซ LPG ซึ่งในที่ประชุมมีมติให้ชะลอการปรับราคาก๊าซ LPG ออกไปก่อน เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 26 ก.พ.52 มีเงินสุทธิ 19,840 ล้านบาท มีหนี้สิน 3,223 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 3,011 ล้านบาท และงบประมาณบริหารและโครงการซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว 212 ล้านบาท
ที่ประชุมฯ ยังมติเห็นชอบให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซล B100 จากเดิมได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซล B100 ให้ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย 3 บาทต่อกิโลกรัม ปรับใหม่เป็นให้อ้างอิงราคาปาล์มดิบชนิดสกัดแยก(เกรดเอ)ตามกรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย(น้ำมัน 17%) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศเผยแพร่บวกค่าสกัด 2.25 บาท/กิโลกรัม เป็นการชั่วคราวถึง 31 พ.ค.52 หลังจากนั้นให้กลับมาใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.-31 พ.ค.52
การปรับปรุงดังกล่าวเพื่อให้ผู้ค้าผลิตไบโอดีเซล(B100) จำหน่ายให้กับผู้ค้ามาตรา 7 โดยสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล และสอดคล้องกับมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ก.พ.52
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้ปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพบริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าจำหน่ายตามผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.) เป็นผู้ประเมินมาตรฐานคุณภาพของ กฟผ. และการไฟฟ้าจำหน่าย โดยจะมีการสำรวจความพึงใจของผู้ใช้ไฟฟ้าต่อการบริการของ กฟผ. และการไฟฟ้าจำหน่าย ตลอดจนการเสนอแนะการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพบริการ และการกำหนดบทปรับให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นในระยะต่อไป