ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร TK ที่ระดับ “BBB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 4, 2009 09:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ฐิติกร (TK) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ เครือข่ายสาขาที่กว้างขวาง ความสามารถในการทำกำไรที่ต่อเนื่อง และโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการถดถอยของภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระยะใกล้ซึ่งอาจกระทบต่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทที่มีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผลจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลงเนื่องจากภาระการตั้งสำรองที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงจากการที่ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้ที่อ่อนแอลง

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเครือข่ายสาขาที่กว้างขวางจะช่วยให้บริษัทสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดและผลประกอบการทางการเงินต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทคาดว่าจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในทางลบ และช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจหากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเอื้ออำนวยมากขึ้น

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทฐิติกรมีกำไรสุทธิ 288 ล้านบาทในปี 2550 เพิ่มขึ้น 15.8% จากปี 2549 ผลกำไรยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2551 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 326 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13.2% จากปี 2550 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.4% ในปี 2549 เป็น 5.3% ในปี 2550 และ 5.8% ในปี 2551 แม้ว่าจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่จะลดลงถึง 16.8% ในปี 2550 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่สินเชื่อรถจักรยานยนต์คงค้างของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นเป็น 4,445 ล้านบาทในปี 2550 โดยเพิ่มขึ้น 3.1% จาก 4,310 ล้านบาทในปี 2549 สินเชื่อรถจักรยานยนต์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 4,989 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็น 12.2% จากปี 2550 ซึ่งมากกว่าอัตราการเติบโตของจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ระดับ 7.9% ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในปี 2552 จะส่งผลให้จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลง 15%-20% ซึ่งอาจกระทบต่อการขยายธุรกิจของบริษัท

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทฐิติกรยังคงสามารถดำรงสถานะผู้นำในตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์แม้จะมีปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจมากมาย อาทิ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง และความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็มีผลบั่นทอนความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกค้า ซึ่งส่งผลให้บริษัทต้องตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 5.0% ในปี 2548 เป็น 8.1% ในปี 2549 และ 8.4% ในปี 2550 อัตราส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 9.8% ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นการสนับสนุนนโยบายการตั้งสำรองที่แข็งแกร่งของบริษัท ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นจาก 83.2% ในปี 2549 เป็น 100.9% ในปี 2550 และเป็น 124.3% ในปี 2551 นอกจากนี้ อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ลดลงจาก 9.4% ในปี 2549 เป็น 7.0% ในปี 2550 และ 5.5% ในปี 2551 เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวอย่างรวดเร็วในปี 2552 ดังนั้น สิ่งท้าทายสำคัญสำหรับบริษัทคือความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์

บริษัทฐิติกรให้บริการสินเชื่อรถยนต์ผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท ชยภาค จำกัด ในช่วงปี 2548-2551 บริษัทชยภาคได้ลดปริมาณสินเชื่อรถยนต์ลงเนื่องจากต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง โดยสินเชื่อรถยนต์คงค้างลดลงจาก 1,497 ล้านบาทในปี 2548 เหลือ 587 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 หรือคิดเป็น 10.6% ของสินเชื่อคงค้างรวม ต่อมาสินเชื่อรถยนต์เริ่มขยายตัวอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนทางการเงินที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้นและการแข่งขันทางด้านราคาก็ลดลงหลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่บางรายออกจากตลาด โดยในปี 2551 สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 596 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับผลประกอบการของสินเชื่อรถจักรยานยนต์เป็นอย่างมากในระยะปานกลาง

บริษัทฐิติกรมีสาขา 73 แห่งครอบคลุมพื้นที่ 42 จังหวัดในทั่วทุกภาคของประเทศ โดยบริษัทมีการกระจายตัวของสาขาที่กว้างขวางและทั่วถึงมากกว่าคู่แข่ง การมีเครือข่ายสาขาที่มากกว่าทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันที่เหนือกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆ ซึ่งมักจะเน้นเฉพาะลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทริสเรทติ้งกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ