"ทริส"คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ BGH ที่ระดับ “A/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 5, 2009 08:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำตลาดในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนจำนวนผู้รับบริการที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แพทย์และผู้บริหารโรงพยาบาลที่มีความสามารถและประสบการณ์ รวมทั้งคุณภาพบริการที่อยู่ในระดับสูง ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงเครือข่ายที่แข็งแกร่งของบริษัทภายใต้ชื่อกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรที่ค่อนข้างต่ำ ภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ความกังวลเกี่ยวกับภาระหนี้ในอนาคตเนื่องจากบริษัทมีการขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศ และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในระดับในปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าการลงทุนในอนาคตของบริษัทจะใช้เงินทุนจากการดำเนินงานเป็นหลักเพื่อให้สามารถคงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ที่ระดับ 50% หรือต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม หากแผนการลงทุนของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ระดับหนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่ออันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัท

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการก่อตั้งในปี 2512 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ โดยมีทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 10 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 19 แห่ง และมีจำนวนเตียงรวมทั้งสิ้น 2,959 เตียง โดยมีโรงพยาบาลที่ประกอบกิจการภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ 13 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสมิติเวช 3 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง และภายใต้ชื่อ Royal International Hospital 2 แห่ง รายได้เกือบทั้งหมดของบริษัทมาจากธุรกิจโรงพยาบาล โดยในช่วง 3 ปีหลัง รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 56% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 7 แห่ง คือ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ และโรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI)

กิจการของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการขยายตัวอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาเนื่องจากการควบรวมกิจการ โดยบริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) บริษัท บีเอ็นเอช เมดิคอล เซ็นเตอร์ จำกัด และโรงพยาบาลอีกหลายแห่งในภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จำกัด บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพหาดใหญ่ จำกัด และ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพราชสีมา จำกัด รายได้จากการดำเนินกิจการโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงปี 2547-2551 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ระดับ 42% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมของจำนวนผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในในช่วงดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 31% และ 29% ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของจำนวนวันของผู้ป่วยในที่พักอยู่ในโรงพยาบาลอยู่ที่ประมาณ 27% ทั้งนี้เนื่องจากจำนวนเฉลี่ยของวันที่ผู้ป่วยในเข้ามารับการรักษาลดลงจากประมาณ 3.21 วันในปี2547 มาอยู่ที่ 3.02 วันในปี 2551 อัตราการเติบโตเฉลี่ยของรายได้จากผู้ป่วยนอกแต่ละรายและรายได้จากผู้ป่วยในต่อวันในช่วงปี 2547-2551 อยู่ที่ประมาณ 10%-12% ในขณะที่รายได้จากผู้ป่วยชาวต่างประเทศมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับเพียง 18% ของรายได้รวมในปี 2547 มาอยู่ที่ 36% ในปี 2551

การควบรวมกิจการโรงพยาบาลหลายแห่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาทำให้อัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2547 เป็น 54.5% ในปี 2549 ก่อนจะลดลงมาอยู่ที่ 46% ในปี 2551 ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 10.4 เท่าในปี 2547 มาอยู่ที่ 6.7 เท่าในปี 2550 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.07 เท่าในปี 2551 ผู้บริหารของบริษัทตั้งใจที่จะคงอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่ในระดับนี้แม้บริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจในอนาคต เนื่องจากภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นเงินสกุลบาทและมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้นบริษัทจึงไม่มีความเสี่ยงในด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้บริษัทต้องชะลอแผนการลงทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลสมองขนาด 60 เตียงและโรงพยาบาลในกรุงอาบู ดาบี อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีแผนใช้จ่ายในปี 2552 ประมาณ 2,600 ล้านบาท หรือประมาณ 11% ของรายได้จากผู้ป่วยรวม เพื่อการบำรุงรักษาโรงพยาบาลที่มีอยู่และก่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ที่หัวหิน และพนมเปญ

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการใกล้เคียงกับผู้ประกอบการรายอื่น โดยอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้รวมปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 22.46% ในปี 2550 เป็น 21.60% ในปี 2551 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับอัตราการว่างงานในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยลดลงและทำให้บริษัทไม่สามารถปรับเพิ่มราคาค่ารักษาได้ ดังนั้นความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมต้นทุนและใช้สินทรัพย์และบริการที่มีอยู่ร่วมกันภายในกลุ่มให้เกิดประโยชน์มากที่สุด การมีสินทรัพย์ที่ค่อนข้างมากซึ่งบางส่วนยังไม่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่นั้นมีผลทำให้บริษัทมีอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อย่างไรก็ดี อัตราส่วนดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นจาก 11.13% ในปี 2550 มาอยู่ที่ 12.84% ในปี 2551


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ