บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC) ที่ระดับ “BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดธุรกิจการก่อสร้างอาคารสูง ตลอดจนประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้าง และงบดุลที่แข็งแกร่ง ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่ผันผวนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรง ธุรกิจที่ขาดความหลากหลาย และผลกำไรที่ไม่แน่นอนจากการปรับเพิ่มราคาวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้เนื่องจากสัญญาก่อสร้างส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแบบคงที่ (Fixed-price Contract)
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทซินเท็ค คอนสตรัคชั่นจะสามารถรักษาสถานะที่ได้เปรียบในการแข่งขันในงานก่อสร้างภาคเอกชนเอาไว้ได้ และแม้การแข่งขันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลง แต่ก็คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยในการประมูลงาน อีกทั้งยังบริหารต้นทุนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะรักษาอัตราการทำกำไรให้อยู่ในระดับที่รับได้
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทซินเท็ค คอนสตรัคชั่นก่อตั้งในปี 2531 โดยเป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างทั่วไปขนาดกลางซึ่งมีความชำนาญในการก่อสร้างอาคารสูง บริษัทมีรายได้ในปี 2551 จำนวน 5,856 ล้านบาท ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นธุรกิจภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย โรงแรม และโรงพยาบาล แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอัตรากำไรจากงานรับเหมาก่อสร้างภาคเอกชนจะสูงกว่างานของภาครัฐ แต่บริษัทก็มีความเสี่ยงจากอุปสงค์งานก่อสร้างที่ลดลงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และบริษัทก็เหมือนกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นๆ ในประเทศไทยที่ประสบกับปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่ผันผวนเนื่องจากสัญญาก่อสร้างส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นแบบคงที่
ดังนั้น บริษัทจึงพยายามลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการตรึงราคาวัสดุก่อสร้างเมื่อมีโอกาส และลดความสูญเสียที่ไม่จำเป็นจากงานก่อสร้าง บริษัทมีการควบคุมความคืบหน้าของงานก่อสร้างทุกสัปดาห์เพื่อช่วยลดโอกาสในการขาดทุนอย่างไม่คาดหมายจำนวนมากเมื่อสิ้นสุดโครงการ และเนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชน บริษัทจึงมีความเสี่ยงจากปัญหาเครดิตของลูกค้า ดังนั้นความสามารถในการคัดกรองและรักษาลูกค้าที่มีคุณภาพเอาไว้จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จของบริษัท อนึ่ง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบริษัทได้สั่งสมชื่อเสียงในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือในงานก่อสร้างจนส่งผลทำให้มีลูกค้าที่กลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง อาทิ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นต้น ณ เดือนธันวาคม 2551 บริษัทมีงานคงค้างที่ยังไม่ได้ส่งมอบจำนวน 27 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 6,180 ล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 6,512 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 หรือคิดเป็น 1.2 เท่าของรายได้เฉพาะของบริษัทในปี 2551
หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในปี 2546 ผลการดำเนินงานของบริษัทก็เริ่มปรับตัวดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากอุปสงค์ในงานก่อสร้างคอนโดมิเนียมและโรงแรมที่มีมาก ทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตจาก 3,360 ล้านบาทในปี 2546 มาอยู่ที่ 5,370 ล้านบาทในปี 2550 และ 5,856 ล้านบาทในปี 2551 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วกลับลดลงจาก 6.88% ในปี 2549 มาอยู่ที่ 6.25% ในปี 2550 และเป็น 4.95% ในปี 2551
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 หลังจากการเพิ่มทุนในเดือนธันวาคม 2546 โครงสร้างเงินทุนของบริษัทก็ค่อนข้างแข็งแกร่ง ณ เดือนธันวาคม 2551 ภาระหนี้รวมของบริษัทอยู่ที่ 894 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ที่ 34.14% และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ 26.77% ถึงแม้ทริสเรทติ้งจะคาดการณ์ว่ารายได้และอัตรากำไรของบริษัทจะลดลงในระยะปานกลางเนื่องจากแนวโน้มอุปสงค์ที่ลดลง ตลอดจนการแข่งขันทางธุรกิจและราคาที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทไม่น่าจะอ่อนแอลงมากนักเพราะกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลงนั้นสอดคล้องกับภาระหนี้ที่น่าจะลดลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากหนี้ส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน