GRAMMY ปั้นทีวีดาวเทียมคืนทุน 2 ปี/ตั้งเป้าแชร์ตลาดผู้ชม 40%ใน 6 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 10, 2009 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุระชาติ ตั้งตระกูล กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดแคสติ้ง บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) คาดว่า ธุรกิจทีวีดาวเทียม จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 2 ปี จากที่ใช้งบลงทุน 5 ช่องรวมราว 500 ล้านบาท และในการสร้างแบรนด์

บริษัทมีเป้าหมายในเฟสแรกหรือ 6 เดือนแรกให้ได้จำนวนกลุ่มเป้าหมาย 8 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของฐานผู้ชมเคเบิลทีวี, จานดาวเทียมระบบ C Band (PSI) และจานดาวเทียมระบบ KU Band (DTV) ประมาณ 20 ล้านคน และเฟสที่สองหรืออีก 6 เดือน จะเติบโตอีก 100% ได้จำนวนกลุ่มเป้าหมายเป็น 16 ล้านคน

“เรามองว่าทีวีดาวเทียมเป็นสื่อช่องทางใหม่สำหรับโปรโมทคอนเทนต์ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทำให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นสื่อทางเลือกใหม่ทำให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเดียวกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" นายสุระชาติ กล่าว

การเข้าทำธุรกิจดาวเทียมในเบื้องต้นมุ่งสร้างแบรนด์ GMM Channel ด้วยกลยุทธ์ Knock Door Marketing โดยเฟสแรก คือ ช่วงเดือน ต.ค. 51-เม.ย.52 ทำกับ B2B (Business to Business) ได้แก่ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวี, จานดาวเทียมระบบ C Band (PSI) และจานดาวเทียมระบบ KU Band (DTV)

และเฟสสอง คือ ช่วงเดือนเม.ย. — ธ.ค.52 ทำกับ B2C (Business to Consumer) เพื่อทำให้รู้จักในวงกว้าง และทราบว่าสามารถเลือกรับชมได้ 3 ช่องทาง คือ เป็นสมาชิกเคเบิลทีวี, จานดาวเทียมระบบ C Band (PSI) และจานดาวเทียมระบบ KU Band (DTV)

ทั้งนี้ เชื่อว่าภายใน 5 ปี เคเบิ้ลทีวีและแซตเทิลไลต์ทีวีจะเข้ามาแทนที่เสาอากาศก้างปลา ทำให้สัญญาณรับชมฟรีทีวีชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งปัจจุบันราคาจำหน่ายจานดาวเทียมแต่ละระบบแพงกว่าเสาอากาศก้างปลาเพียงเล็กน้อย จึงคาดว่าในอนาคตราคาจะไม่แตกต่างกันเลย ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อจานดาวเทียมหรือเลือกเป็นสมาชิกเคเบิ้ลทีวีง่ายขึ้น

ปัจจุบันสัดส่วนผู้รับชมฟรีทีวีอยู่ที่ 48% ขณะที่เคเบิ้ลทีวีและแซตเทิลไลต์ทีวีอยู่ที่ 52% สะท้อนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกรับชมรายการที่นำเสนอคอนเทนต์โดนใจมากกว่ายึดติดการรับชมเฉพาะฟรีทีวี

ดังนั้น การที่จีเอ็มเอ็มปรับโครงสร้างธุรกิจหลอมรวมกับ บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่(GRAMMY) และ บมจ. จีเอ็มเอ็ม มีเดีย (GMMM) เข้าด้วยกันเอื้อต่อการนำคลังคอนเทนต์ด้านบันเทิงมาผนึกกำลังกับความเชี่ยวชาญของมีเดียในแต่ละเซ็กเมนต์ ส่งผลให้สามารถลงทุนในคุณภาพของคอนเทนต์และเทคโนโลยีได้เต็มที่ เพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายช่องทางมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบคู่แข่ง

นอกจากนี้ บริษัทมีความเสี่ยงน้อย เพราะทีวีดาวเทียมทั้ง 5 ช่องล้วนจับกลุ่มเป้าหมายเซ็กเมนต์ที่ตนเองถนัดและเป็นที่หนึ่งอยู่แล้ว เช่น แฟนทีวีจับกลุ่มผู้ชื่นชอบลูกทุ่ง ซึ่งแกรมมี่โกล์ดเป็นที่ 1ของตลาดอยู่แล้ว, แบง ชาแนลจับกลุ่มวัยรุ่นอันเป็นความถนัดของจีเอ็มเอ็มทีวี, กรีนชาแนลใช้คอนเทนต์จากคลื่นวิทยุที่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย, เอ็กแซ็กท์เป็นเจ้าแห่งตลาดซิทคอมและดรามา สุดท้าย คือ เบิร์ดชาแนลเป็นการต่อยอดจากแบรนด์ศิลปินซูเปอร์สตาร์ของไทย

และการทำแบรนด์ GMM Channel ให้ประสบความสำเร็จจะรวดเร็วกว่าคู่แข่ง เพราะสามารถสื่อสารผ่านกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงผ่านมีเดียของแกรมมี่เอง เนื่องจากเริ่มต้นจากการเจาะกลุ่มผู้เป็นแฟนพันธุ์แท้ทั้งของคอนเทนต์และมีเดียของแกรมมี่อยู่แล้ว

รวมทั้งมีโอกาสสร้างรายได้หลายช่องทางต่างจากคู่แข่งรายอื่น คือ ทั้งรายได้จากการขายโฆษณา รายได้จากการจัดอีเวนต์ และรายได้จากธุรกิจดิจิตอล ซึ่งทีวีดาวเทียมสนับสนุนธุรกิจเพลงได้โดยตรง

ทั้งนี้ ช่องที่ออกอากาศแล้วคือ แฟนทีวี พบว่าได้รับการตอบรับเป็นไปตามเป้าหมายคือผลสำรวจล่าสุดของเอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ระบุว่า FAN TV เป็นรายการเพลงในเคเบิ้ลทีวีที่มีผู้ชมมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 2.3 ล้านคน หลังออกอากาศเพียง 4 เดือนเท่านั้น ขณะที่ BANG Channel ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.52 และ Green Channel ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้รับผลตอบรับดีเช่นกัน

และขณะนี้เตรียมออกอากาศ Acts Channel ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ และจะออกอากาศ Bird Channel ประมาณก.ค.52 ซึ่งคาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ