สมาคมนักวิเคราะห์ฯ คาดกำไรบจ.ปีนี้ยังโตได้ 10-15% แม้ตลาดหุ้นซึมยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 10, 2009 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในปี 52 จะเติบโตได้ 10-15% จากปีก่อน แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะผันผวนบ้างตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทรุดตัว แต่จะเริ่มทรงตัวในไตรมาส 3/52 จากนั้นในไตรมาส 4/52 จะพลิกสถานการณ์กลับมาเป็นบวก ตลาดหุ้นยังซืมตลอดครึ่งปีแรกแต่จะกระเตื้องช่วงปลายปี

นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ กล่าวในการเสวนาเรื่อง "ตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินงานหลาย บจ.ทรุดตัว"ว่า เศรษฐไทยมีแนวโน้มติดลบทั้ง 4 ไตรมาส และทั้งปีจะเห็นจีดีพีที่ลบประมาณ 3-3.2% โดยในไตรมาสแรกของปีนี้จะเห็นการติดลบที่มากที่สุด จากผลกระทบจากภาวะวิกฤติในต่างประเทศที่มีมาถึงไทย

ภาวะดังกล่าวจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีลักษณะทรงตัวและซึมๆ ตลอดทั้งช่วงครึ่งปีแรก แต่ในช่วงปลายปีก็อาจจะเห็นการปรับตัวขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ตาม อยากให้มองว่าตลาดหุ้นในบ้านเรายังดี บจ.ที่ให้ Dividentd Yield กว่า 6% ยังมีอีกมาก ขณะที่หลายธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ อย่างค้าปลีก สื่อสาร อาหาร เป็นกลุ่มที่อยู่ได้เพียง

"ผมเชื่อว่าสถานการณ่ที่เกิดขึ้นคงจะไม่น่าเลวร้าย ดูจากราคาน้ำมันก็ไม่ได้ลดลงแรง เพราะฉะนั้นก็ยังเชื่อว่าพลังงานยังไปได้ และแบงก์ก็ไม่เพิ่มทุน แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นไทยยังไปได้แต่ไม่แรงเพราะยังมีปัจจัยจากต่างประเทศกดดันอยู่ จึงยังทำให้ตลาดหุ้นคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นไปแรงได้" นายก้องเกียรติ กล่าว

ขณะที่ผลประกอบการ บจ.ในปีที่ผ่านมาได้แสดงความเลวร้ายในไตรมาส 4//51 ไปหมดแล้ว ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ในไตรมาส 1/52 บางตัวเริ่มดีกว่าไตรมาส 4/51 จุดนี้น่าจะเป็นผลบวกต่อผลประกอบการ บจ.ได้บ้าง

ด้านนายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจีดีพีจะติดลบต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 ถึงไตรมาส 3/52 จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ประเมินว่ามีแนวโน้มที่นักวิเคราะห์จะมีการปรับลดจีดีพีตามเช่นกัน

ถึงแม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ยังยืนอยู่ได้ เพราะยังมีปัจจัยบวกจากดอกเบี้ยและมาตรการของรัฐ แต่จากปัญหาเศรษฐกิจและความเสียหายของสถาบันการเงินทั่วโลกที่ยังรุมเร้าไม่สิ้นสุดและอาจจะเห็นการขาดสภาพคล่องตามมา จะเป็นปัจจัยกดดันทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น มี.ค.-เม.ย.ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 360 จุด ซึ่งถือว่าปรับตัวลดลงจากจุดต่ำสุดที่เดิมในปีที่ผ่านมาที่ 380 จุด

"ที่มองว่าเศรษฐกิจจะถดถอยอาจจะทำให้รายได้จากท่องเที่ยงและส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักหดตัวลดลงด้วย อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความว่างงาน เพราะจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภค เพราะการที่มีคนตกงานมากขึ้นก็จะทำให้ความต้องการใช้สินค้าลดลงตาม ซึ่งก็จะกระทบพวก บจ.อีกที เมื่อขาดรายได้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินทำให้เกิดหนี้เสีย"นายสมบัติ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ