IRPC ปรับโครงสร้างให้คล่องตัวรับสถานการณ์ผันผวน-พลิกมีกำไรปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 11, 2009 12:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ปรับโครงสร้างองค์การแยกเป็นหน่วยธุรกิจ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการชัดเจน รับมือสถานการณ์ผันผวนได้ทันท่วงที ยอมรับผลประกอบการไตรมาส 4/51 เป็นบทเรียนที่ต้องนำมาปรับปรุงเพื่อให้การบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันนำสินทรัพย์ของบริษัทมาใช้เต็มประสิทธิภาพและสร้างรายได้เพิ่ม

พร้อมคาดในปี 52 ธุรกิจจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิประมาณ 4 พันล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนถึง 1.8 หมื่นล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากผลขาดทุนสต็อกสินค้าคงเหลือกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ปีนี้มั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะประเมินราคาน้ำมันคงไม่ลงต่ำกว่า 40 เหรียญ/บาร์เรลเหมือนปลายปีก่อน โดยมองว่าระดับราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 52 น่าจะอยู่ที่ 40-50 เหรียญ/บาร์เรล ขณะเดียวกัน Integrated GRM(ทั้งธุรกิจการกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี)คาดไว้ในปี 52 อยู่ที่ 7-10 เหรียญ/บาร์เรล จากปี 51 อยู่ที่ 7.4 เหรียญ/บาร์เรล

แต่ยอมรับรายได้ปี 52 ลดลงจากปี 51 ที่มี 2.45 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะมีรายได้ที่ 167,716 ล้านบาท เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ทุกชนิดปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมัน ด้านกำลังการกลั่นในปีนี้จะยังทรงตัวเท่ากับปีก่อนที่ใช้กำลังการกลั่น 1.7 แสนบาร์เรล/วัน หรือใช้กำลังการผลิตประมาณ 80% ของกำลังการกลั่นที่มีอยู่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน

"ใน Budget ที่เราทำไว้จะมีกำไรสุทธิปีนี้ที่ประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งจะโชว์ในวันประชุมผู้ถือหุ้น ยังไงปีนี้ GRM ก็ต้องมากกว่าปีที่แล้ว แต่รายได้คงไม่มากกว่าปีที่แล้ว เพราะราคาน้ำมันดิบลง ทุกบริษัทยอดขายปีนี้จะลงหมด รายได้จะเพิ่มกว่าปีที่แล้วเป็นไปไม่ได้ unit price ลงหมด ราคาน้ำมันลงทุกอย่างก็ลงตาม แต่เพราะเราคิดว่ามาร์จิ้นโรงกลั่น หรือ มาร์จิ้นปิโตรเคมีก็ดี เราสามารถรักษาระดับเอาไว้ได้ ไม่ถึงกับ loss"นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

"กำไร 4 พันล้าน ถามว่าเยอะไหม ไม่เยอะเมื่อเทียบกับยอดขายซึ่งผมคาดว่าจะได้แสนเศษ ในภาวะอย่างนี้อย่าคิดว่าดีนะ แต่เป็นระดับที่เอาตัวรอด"นายไพรินทร์ กล่าว

และระบุอีกว่า"เราคาดว่าจะบริหารให้มีมาร์จิ้นโรงกลั่นทรงตัว เพราะคาดว่าลักษณะธุรกิจน้ำมันออกมาลักษณะ sideway และเราคาดว่าเศรษฐกิจก็คงจะแย่ แต่ผลที่เราประมาณการไว้ บริษัทสามารถทำธุรกิจและพอมีกำไรบ้างเล็กน้อย คือถ้าได้มากกว่านี้ก็ถือว่าเฮง ทุกบริษัทก็บริหารแบบนี้จะไปหวังกำไรเป็นกอบเป็นกำคงจะไม่ได้ ปีนี้เราพยายามประคองตัวไปให้ได้"

ในปี 51 ราคาน้ำมันมีความผันผวนมากโดยต้นปีอยู่ที่ 90 เหรียญ/บาร์เรลและขึ้นไปสูงุสดที่ 141 เหรียญ/บาร์เรล แต่ราคาน้ำมันปรับลงอย่างรวดเร็ว ณ สิ้นเดือน ธ.ค.ราคาลงมาที่ระดับ 36 เหรียญ/บาร์เรล ส่งผลให้ไตรมาส 4/51 ขาดทุนสินค้าคงเหลือ 15,469 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในปี 52 นายไพรินทร์ คาดว่าธุรกิจโรงกลั่นมองว่าจะไม่เลวร้ายกว่าเดิม เพราะลงไปต่ำสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่กล้าพูดว่าปีนี้จะดีขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 40-50 เหรียญ/บาร์เรล จากปีก่อนที่เราคาเฉลี่ยที่ 90 เหรียญ/บาร์เรล

"ที่ผ่านมาเรามี stock loss มากมายมหาศาล เพราะราคาน้ำมันลงไปมาก สภาพนั้นแน่ ๆ ไม่เกิดแล้ว ราคาน้ำมันคงไม่ลงไปต่ำกว่า 40 เหรียญ เมื่อสิ้นปีเรามีสต็อกอยู่ประมาณ 10 ล้านบาร์เรล สาเหตุที่เรามีสต็อกมาก เพราะบริษัทเรามีซัพพลายเชนที่ยาวที่สุด ตั้งแต่ธุรกิจโรงกลั่นจนไปถึงธุรกิจปิโตรเคมี ทำให้การผลิตแต่ละช่วงการผลิตมีการเก็บสต็อก จึงทำให้จำนวนสต็อกเหลือยู่มาก"

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้มีจำนวนสต็อกมาก เพราะว่าบริษัทมีซัพพลายเชนยาว และการบริหารจัดการอาจดีไม่พอ

*ผ่าตัดองค์กรย่อยเป็นหน่วยธุรกิจ เพิ่มความคล่องตัว

กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า บริษัทมีแผนปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ตอนนี้อยู่ในชั้นเตรียมการ โดยแบ่งแยกเป็นหน่วยธุรกิจ(Business Unit)เพื่อแยกการบริหารการจัดการให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยทำให้การบริหารเกิดความยืดหยุ่น(Flexibility)ความคล่องตัวรวดเร็ว และความโปร่งใส เชื่อว่าปีนี้คงเริ่มปฏิบัติ โดยกำลังพิจารณาว่าอาจจะแยกเป็น 3-5 หน่วยธุรกิจ

ปัจจุบัน บริษัทมีหลายธุรกิจแต่ทำเหมือนธุรกิจเดียว ทำให้ไม่คล่องตัว ซึ่งอย่างบริษัทใหญ่ เช่น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ก็ยังแยกการบริหารตามธุรกิจ ทั้งนี้ โดยหลักคิดเปลี่ยนเรือลำใหญ่ให้เป็นลำย่อมลงมา เพื่อความคล่องตัว และเมื่อเกิดปัญหาจะจัดการได้รวดเร็วขึ้น

"ในภาพรวมในปีนี้ ผมคิดว่าเราจะต้องมีการปรับ โครงสร้างองค์กร เป็นภาพใหญ่ แต่ภาพเล็ก ระยะสั้น หลายเรื่องที่เราจะต้องทำให้ได้ เราต้องการเปลี่ยนให้บริษัทสามารถมี Flexibility เราจะต้องทำให้เสร็จภายใน 3-5 เดือนข้างหน้า เพราะเราต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในข้างหน้าให้ได้ คือเราพลาดไปครั้งหนึ่ง ต้องไม่พลาดครั้งที่สอง คือ Business Process ต้องเปลี่ยนให้เร็ว รับความผันผวนได้" นายไพรินทร์ กล่าว

ปัจจุบันธุรกิจหลักของ IRPC นอกจากจะมีธุรกิจโรงกลั่น และ ธุรกิจปิโตรเคมีแล้ว ก็ยังธุริจท่าเรือและคลังเก็บน้ำมัน , ธุรกิจสาธารณูปโภค ได้แก่ โรงไฟฟ้า น้ำ และ ธุรกิจอสังหาริมรัพย์ ซึ่งมีที่ดินอยู่ 1.5 หมื่นไร่ ทั่วราชอาณาจักร

สิ่งเหล่านี้ บริษัทไม่ได้ใช้ทรัพยสินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะท่าเรือซึ่งมีขนาดใหญ่ ก็ควรจะให้บริการส่งออกกับบริษัทอื่น, อสังหาริมทรัพย์ก็ซื้อทิ้งไว้, สาธารณูปโภค ฉะนั้น ในปีนี้บริษัทจะบริหารจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างรายได้ และเราไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม

"ทุกเรื่องที่พูดมาจะต้องมี Business Model ของตัวเองเสนอเข้ามา และเราดูแล้วชอบก็จะเสนอต่อคณะกรรมการ ทุกอย่างทีเดียว ปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้ generate เงินให้กับบริษัทได้ ในสภาพธุรกิจอย่างนี้คือคิดอะไรได้ก็ต้องทำ ไม่ใช่เอาทรัพย์สินที่มีอยู่มากอง"นายไพรินทร์ กล่าว

*รอ 2-3 เดือนสรุปจะเดินหน้าหรือชะลอโครงการขยาย ABS/SAN

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ด้านการลงทุน ยังมี 3-4 โครงการของโครงการระยะที่ 2 ที่ต้องทบทวน หรือชะลอออกไปก่อน โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันตามาตรฐาน EURO IV ต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล รวมทั้ง โครงการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกลั่นและเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันจาก 2.15 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 2.58 แสนบาร์เรล/วัน และโครงการปรับปรุงท่าเรือ ต้องชะลอออกไปก่อน

"เรื่องการลงทุน หลายโครงการเราได้ดำเนินไปแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการระดับกลางถึงระดับเล็ก ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ ดังนั้น โครงการที่ยังไม่ได้เริ่มเราจะดูรายละเอียด อย่างโครงการ EURO IV ก็ยาวไปแลย"นายไพรินทร์ กล่าว

ส่วนโครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด ABS/SAN รอประเมินอัตราผลตอบแทนการลงทุน หลังสภาพตลาดเปลี่ยนไป ซึ่งคาดว่าใน 2-3 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปก็จะดำเนินโครงการต่อหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ได้วงเงินกู้เอาไว้แล้ว โดยจะต้องมีการคำนวณหรือประเมินอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR)ว่าจะได้เหมือนเดิมหรือไม่ เพราะสภาพลาดและราคาผลิตภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไป

"ยังมีโครงการ ABS ที่ยังไม่ได้ทำ แต่ได้กู้เงินไว้แล้ว ก็ต้องมาดูอีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปในเร็วๆนี้ เพราะได้เงินกู้มาแล้ว โครงการนี้ใช้เวลาก่อสร้าง 2 -3 ปี แต่จากสภาพตลาด และราคาที่เปลี่ยนไป ทำให้ IRR เปลี่ยนไปอย่างไร จะได้เหมือนเดิมหรือเปล่า ต้องconfirm อย่างนี้ทุกครั้งเพื่อความรอบคอบ ที่ต้องกลับไปดูใหม่เพราะสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนไปเยอะ"

แม้ว่าขณะนี้ ราคาก่อสร้างโรงงานจะถูกลงมาก อัตราดอกเบี้ยต่ำลง แต่ก็มีข้อเสียที่การกู้เงินยากขึ้น แต่บริษัทก็ต้องประเมินว่าตลาดในอีก 2 ปีข้างหน้าจะดีเหมือนเดิมหรือไม่

"ตลาดตอนนี้ถดถอย คือทั้งหมด ในตัวแปรในการคำนวนรีเทิร์นเปลี่ยนไปหมดแล้ว จึงต้องให้ไปคำนวณไหมว่าภาพอนาคตจะดีเหมือนเดิมหรือเปล่า ถ้าดีเหมือนเดิม ทำ ถ้าไม่ดีเหมือนเดิม ชะลอ"กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าว

ทั้งนี้ ตามแผนเดิมโครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกชนิด ABS/SAN มีวงเงินลงทุน 70 ล้านเหรียญ มี IRR 21%

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้กู้เงิน จำนวน 1 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี เพื่อลงทุนในโครงการขยายกำลังการผลิต 5 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิต HDPE เริ่มผลิตได้ในมี.ค.52 , โครงการขยายกำลังการผลิต ABS-CCM เริ่มผลิตในเดือนมี.ค.52 ,โครงการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าร่วม กำลังการผลิตไฟฟ้า 220 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำม 420 ตันต่อชั่วโมง คาดเสร็จไตรมาส 3 ปี 53,โครงการขยายกำลังการผลิตโพรพิลีน เริ่มสร้างไตรมา4/52 คาดเสร็จในปี 54 และโครงการขายกำลังการผลิต ABS/SAN ที่กำลังทบทวนแผน

สำหรับกรณีที่บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ IRPC เป็นลบจากเดิมแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพนั้น นายไพรินทร์ กล่าวว่า เป็นไปตามภาวะธุรกิจโรงกลั่นและธุรกิจปิโตรเคมีที่เป็นขาลง และบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทั้งนั้น ยอมรับว่า ผลกระทบก็มีบ้าง ที่จะมีผลต่อต้นทุนการเงิน สำหรับนักลงทุนก็ใช้เครดิตเรทติ้งนี้ในการพิจารณาลงทุนหุ้นของบริษัท

แต่เนื่องจากปีนี้ บริษัทไม่มีแผนจะออกหุ้นกู้ หรือกู้เงินใหม่ เพราะเชื่อว่า กระแสเงินสดเรายังแข็งแกร่งดีอยู่ ส่วนเงินกู้เดิมไม่มีผลกระทบ ดังนั้นผลกระทบที่แท้จริงก็ยังไม่เกิดขึ้นจากแนวโน้มจะถูกปรับลดเครดิต

"มองว่า Watch List ว่าเป็นเรื่องที่ดี จะได้ระมัดระวัง ทำให้เราเรียนรู้ความผิดพลาดเมื่อปลายปี ที่เราไปพลาดไตรมาสสุดท้าย เราสรุปบทเรียนจากคราวที่แล้วและก็แก้ไข" นายไพรินทร์กล่าว

อนึ่ง โครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท (ณ 8 ก.ย.51) บมจ.ปตท (PTT) ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 35.78% , ธนาคารออมสิน 9.93%, กองทุนบำเหน็ญบำนาญข้าราชการ 8.42%, กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง 9.92%, ธนาคารกรุงเทพ 2.57%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ