ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เรียกหารือสมาคมบริษัทหลักทรัพย์(บล.)ระดมสมองผลักดันเพิ่มวอลุ่มตลาดหุ้นไทยที่ซึมเซามานานจากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจในระดับโลก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวภายหลังการหารือว่า เปิดเผยถึงแนวทางการเพิ่มสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นการนำระบบผู้ดูแลสภาพคล่อง(Market maker)กลับมาใช้ ซึ่งคงจะเริ่มกับหุ้นที่มีการเสนอขายครั้งให้กับประชาชนทั่วไป(IPO)ก่อน
นอกจากนี้ จะมีการผลักดันในเรื่องของกองทุนร่วมลงทุนภายใต้ Matching Fund อย่างจริงจัง เพราะตลาดมีความพร้อมอยู่แล้ว รวมถึงการลงทุนในสินค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะตลาดอนุพันธ์ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น และ Gold Futures ที่มีวอลุ่ม 1 พันสัญญาในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น จึงน่าจะหาโอกาสการลงทุนในตลาดอนุพันธ์ให้มากขึ้น
ส่วนข้อเรียกร้องของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ในการแก้หลักเกณฑ์การซื้อหุ้นคืน เพื่อเปิดให้ทางให้บจ.ที่ซื้อหุ้นคืนสามารถเพิ่มทุนได้นั้น นางภัทรียา กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีอนุมัติการแก้ไขกฎเกณฑ์ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอไป
"แผนที่หารือในครั้งนี้คงเป็นแผนระยะสั้น แต่หวังผลในระยะยาว และเราก็จะมาพบกันทุก 3 เดือนเพื่อประเมินและพูดคุยถึงสิ่งที่ทำ ต้อยอมรับว่าสภาวะเช่นนี้คงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ" นางภัทรียา กล่าว
สำหรับวอลุ่มตลาดที่ปรับตัวลดลงในขณะนี้ นางภัทรียา ยอมรับว่ามีความกังวลแต่ขอประเมินสถานการณ์ในไตรมาส 1 ว่าเป็นอย่างไร ก่อนที่จะทบทวนวอลุ่มเฉลี่ยทั้งปี
ด้านนายกัมปนา โลหเจริญวนิช นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สมาคมมีข้อเสนอแนะภายใต้สภาวะวอลุ่มตลาดที่ปรับลดลง โดยในเดือนก.พ.วอลุ่มเฉลี่ย 7 พันกว่าล้านบาท ลดลงถึง 50% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลต่อรายได้ของโบรกเกอร์ที่มีฐานรายได้ที่มาจากรายได้นายหน้า 70-80% จึงได้เสนอให้เปิดช่องบล.สามารถลดทุนของตัวเอง โดยเฉพาะบล.ที่มีฐานทุนที่มาก เพื่อนำไปคืนทุนส่วนหนึ่งให้กับผู้ถือหุ้น
“เรื่องการลดทุนคงจะขึ้นกับแต่ละบล. แม้จะต้องยอมรับว่า บล.ในไทยเป็นสถาบันที่มี equity สูง มีฐานทุนกว่า 6.3 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งดีในแง่ที่มีทุนไว้รองรับภาวะที่ตกต่ำ ต้องดูความจำเป็นเรื่องฐานทุนสูงในช่วงนี้โดยเฉพาะโบรกเกอร์ที่มีสัดส่วนรายได้จากค่านายหน้า 70-80% ขณะเดียวกันอยากให้เจ้าหน้าที่การตลาดหารายได้ที่นอกเหนือจากรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้น" นายกัมปนาท กล่าว
นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการลดภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น(Capital Gain) ให้กับบริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นบริษัทอื่นเข้าพอร์ตลงทุน เพื่อช่วยกระตุ้นให้บริษัทจดทะเบียนเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดหุ้นได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องได้อีกทางหนึ่งด้วย