(เพิ่มเติม) ศาลล้มละลาย เลื่อนนัดฟังคำสั่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ TT&T เป็น 8เม.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 17, 2009 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการ บมจ.ทีทีแอนด์ที (TT&T )เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ในวันนี้ศาลล้มละลายกลางสั่งให้เลื่อนฟังคำพิจารณาและตัดสินผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไปเป็นวันที่ 8 เม.ย.52 หลังจากเสร็จสิ้นการไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ส่วนน้อยที่ยื่นคัดค้านกรณีที่บริษัทขอเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูฯเอง

"เชื่อว่าในวันที่ 8 เม.ย.ศาลน่าจะมีคำตัดสินออกมาได้" นายสุพจน์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

สาเหตุที่ศาลได้เลื่อนการอ่านคำสั่งเป็นวันที่ 8 เม.ย.52 ในเวลา 9.30 น.เนื่องจากมีข้อมูลที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นำเอกสารจำนวนมาก ทำให้ศาลต้องใช้เวลาในการพิจารณาเอกสาร และที่ผ่านมาศาลมีคดีที่อยู่ระหว่างจำนวนมาก ทำให้ต้องขอเวลาเพิ่มเติมในการพิจารณา แต่จะไม่มีการไต่สวนหรือรอพิจารณาในคดีที่เจ้าหนี้ทั้ง 3 รายได้ดำเนินการคัดค้านอีกแล้ว

สำหรับเจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้านการให้ TT&T เป็นผู้จัดทำและบริหารแผนฟื้นฟูฯ เองนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้แก่ กลุ่มเคลียร์วอเตอร์, ผู้คัดค้านที่ 2 คือ ธนาคารกรุงไทย และ ผู้คัดค้านที่ 3 กลุ่มอะเวนิว เอเซีย

ก่อนหน้านี้ที่มีเจ้าหนี้เสียงส่วนใหญ่โหวตเลือกให้ TT&T เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ จากผู้ที่เสนอขอทำแผนฟื้นฟู 2 ฝ่าย คือ TT&T และ บริษัท พี แพลนเนอร์ โดยตามกฎหมายหากลูกหนี้จะบริหารแผนเองจะต้องมีการโหวตคะแนนเสียงรับรองจากเจ้าหนี้มากกว่ากึ่งหนึ่งของมูลค่าหนี้ แต่สิทธิการบริหารจะต้องได้รับการจัดตั้งจากศาลล้มละลาย ขณะที่ บริษัท พี แพลนเนอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าหนี้ที่ก่อตั้งขึ้นมา ตามกฎหมายแล้วต้องมีเสียงโหวตของเจ้าหนี้มากกว่า 2 ใน 3 ถึงจะมีสิทธิเป็นผู้ทำแผนได้

ด้านทนายความจากธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ผู้คัดค้าน เปิดเผยว่า สาเหตุที่เจ้าหนี้บางส่วนได้เสนอการคัดค้านครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าสิทธิการโหวตของเจ้าหนี้ที่ผ่านมาไม่มีความเป็นธรรมต่อการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ และเกรงว่าเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากคาดว่าบริษัทจะเสนอแนวทางขอลดหนี้ด้วย

อนึ่ง TT&T มียอดหนี้ค้างอยู่กับสถาบันการเงินกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท จากยอดหนี้สินทั้งหมดของบริษัท 2.3 หมื่นล้านบาท ตามงบการเงินชั่วคราว ณ วันที่ 30 ก.ย.51 โดยในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ได้โหวตเลือกบริษัทเป็นผู้ทำแผน เนื่องจาก บมจ.ทีโอที เจ้าหนี้รายใหญ่(เรียกหนี้ 2.2 หมื่นล้านบาท)เป็นผู้โหวตเลือกบริษัทเป็นผู้ทำแผน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ