บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)เผยแนวโน้มผลประกอบการตั้งแต่ปี 52 ผลขาดทุนจะทยอยปรับลดลงทุกปี จนกระทั่งมีกำไรในปี 56 หลังจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ)เปิดดำเนินการ เพราะจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนคน/วัน และมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 พันล้านบาท จากปีนี้ที่คาดว่ามีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 1.8 แสนคน/วัน
ทั้งนี้ คาดว่าช่วงปี 52-55 ผลขาดทุนบริษัทจะลดลง 5-8% ต่อปี หรือคิดเป็นลดลงปีละ 100 ล้านบาท จากการที่รายได้ในช่วงดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8-10% และภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง
"เรา expect ว่าเราขาดทุนลดลง 5-8% ต่อปีจนถึงปีที่เปิดสายสีม่วง ส่วนรายได้ก็ก็คิดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 8-10% จาก ridership(จำนวนผู้โดยสาร)ที่เติบโตขึ้น คิดว่าน่าจะโต 8% ต่อปี แต่ถ้าเปิดสายสีม่วง ridership ก็จะโตพรวดเลย รายได้ที่เพิ่มทำให้เราขาดทุนลดลง"นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BMCL ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ ในปี 52 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 1.8 แสนคน/วัน จากปีก่อนเฉลี่ยที่ 1.7 แสนคน/วัน หรือเพิ่มขึ้น 8% โดยในวันธรรมดาจำนวนผู้โดยสารจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเป็น 2.1 แสนคน/วันจากปีก่อน 2 แสนคน/วัน
และรายได้เฉลี่ยในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 24 บาท/คน จากปีก่อน 22 บาท/คน เพราะในปีนี้สามารถจัดเก็บรายได้ค่าตั๋วโดยสารได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากปีก่อนที่ให้ส่วนลดในช่วงแรกหลังปรับขึ้นค่าโดยสารเมื่อกลางปีที่แล้ว โดยราคาตั๋วโดยสารปัจจุบันอยู่ที่ 16-41 บาท
อนึ่ง ในปี 51 บริษัทมีรายได้ 1.57 พันล้านบาท และ ขาดทุน 1.48 พันล้านบาท
นายสมบัติ กล่าวว่า ปีนี้บริษัทคาดหวังจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการเปิดบริการเดินรถโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์)และส่วนต่อขยายบีทีเอสจากสะพานตากสินไปอีก 2 สถานี รวมทั้ง การย้ายสำนักงานใหญ่ของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)มาที่อาคารจามจุรีสแควร์(สถานีสามย่าน)ในไตรมาส 2 และการเปิดห้าง Cyber World ที่ตั้งใกล้สถานีศูนย์วัฒนธรรม
นอกจากนี้ คาดว่าคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินเริ่มจะสร้างเสร็จ ทั้งหมดเหล่านี้จะทำให้เกิดการใช้รถไฟฟ้าใต้ดินมากขึ้น แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่ดี
นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทได้ปรับเงื่อนไขเงินกู้กับเจ้าหนี้โดยลดดอกเบี้ยลงเหลือ 3.75% จาก 7% ทำให้ปีนี้จนถึงปีต่อไปบริษัทได้ลดภาระดอกเบี้ยลงเกือบครึ่ง และเงินต้นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ทางธนาคารเจ้าหนี้ให้ยกเว้นการส่งคืนเงินต้นในช่วงปี 52-55 ก็ยิ่งทำให้บริษัทสามารถรักษาสภาพคล่องได้เพิ่มขึ้น การยอมลดเงื่อนไขดังกล่าวเป็นเพราะธนาคารเจ้าหนี้มั่นใจว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการแน่นอนภายในปี 56
อนึ่ง จุดคุ้มทุนหรือปีที่เริ่มมีกำไรของบริษัทพลาดจากประมาณการเดิมว่าจะเป็นปี 52 เนื่องจากการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงล่าช้าไปถึง 3 ปี รวมทั้งรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายอื่นด้วย เช่น สายสีเขียว สายสีน้ำเงินด้วย
นายสมยัติ ยังกล่าวว่า การเจรจากับทางซีเมนส์ ซึ่งเป็นผู้ขายรถไฟฟ้าได้ตกลงที่จะปรับปรุงเงื่อนไขการจ่ายค่าซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้า จากเดิมต้องจ่ายทุก 60 วันเปลี่ยนไปจ่ายเป็น 365 วันหรือ 1 ปี โดยจ่ายปีละประมาณ 400 ล้านบาทตลอดอายุ 10 ปี ก็ทำให้เพิ่มศักยภาพเรื่องสภาพคล่อง ปลดสภาพการที่จะเกิดเงินขาดมือ ฉะนั้นสภาพคล่องของบริษัทตอนนี้ใช้ได้แล้ว
*เตรียมเข้าประมูลเดินรถสายสีม่วงปีนี้
นายสมบัติ กล่าวว่า บริษัทเตรียมตัวเข้าประมูลเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)เป็นผู้ดูแลโครงการนี้ ซึ่งคาดว่า รฟม.จะเปิดประมูลราวปลายไตรมาส 3/52 หรือต้นไตรมาส 4/52 เพราะงานโยธาได้เริ่มประมูลไปแล้ว ฉะนั้น การเดินรถก็ต้องเริ่มเพื่อให้เสร็จได้ใกล้เคียงกัน
"ถามว่ามีความเสี่ยงไหม ขึ้นกับภาครัฐเอาจริงเอาจัง ผมมองว่ารัฐบาลจะเอาสายสีม่วงจะเป็น Pilot Project ที่จะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง นอกจากนี้คาดว่าจะมีการเปิดประมูลสายสีอื่นด้วย ได้แก่ สายสีแดง สายสีเขียว และ สายสีน้ำเงิน
...ตอนนี้เรามีความมั่นใจมากขึ้นข้อแรกว่าส่วนต่อขยายมาแน่ ข้อที่สอง เรามีความพร้อมเหลือเกินว่าเราจะมีส่วนร่วมเข้าประมูลเดินรถสายสีม่วง รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหากประมูลได้เราก็จะมี Economic size ของเรา จะประหยัดมากขึ้น"นายสมบัติ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน 1 สถานีจากบางซื่อ-เตาปูน ซึ่ง รฟม.แจ้งกับทางบริษัทว่าจะใช้วิธีเจรจากับบริษัทก่อน เพราะเดินรถเพียงอีก 1 สถานี โดยจะมีการต่อรองผลตอบแทนต่างๆ และถ้า 1 สถานีดังกล่าวเสร็จเร็วก็เปิดให้บริการเลย ประกอบกับ หากทางบมจ.ช.การช่าง (CK) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 1 เจรจากับรฟม.ได้เสร็จก็จะเริ่มก่อสร้างจากจุดนี้ไป ซึ่งอาจจะทยอยเปิดให้บริการไปตามงานที่เสร็จก็ได้
อย่างไรก็ตาม การลงทุนซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติมจะทำเมื่อได้รับสัมปทานเดินรถสายสีม่วง ซึ่งจะสั่งซื้อคราวเดียว เบื้องต้นน่าจะซื้อ 30 ขบวน โดยจำนวนยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยปัจจุบัน บริษัทมีรถไฟฟ้าทั้งหมด 19 ขบวน และหากได้เดินรถต่ออีก 1 สถานี (บางซื่อ-เตาปูน) ก็ยังสามารถให้บริการได้ภายใต้จำนวนขบวนรถเท่าเดิม
นายสมบัติ ยังกล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำตั๋วร่วมกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทย่อยร่วมกันต่อไป โดยราวในไตรมาส 2 ปีนี้ จะจ้างบริษัทผู้ผลิตและดูแลซอฟท์แวร์ตั๋วโดยสารของแต่ละฝ่าย คือ MSI ของ บีทีเอส และ Thales ของ BMCL มาดำเนินการทำตั๋วร่วมของบริษัททั้งสองได้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี (ปี 53-54) โดยเบื้องต้นใช้เงินลงทุน 500-600 ล้านบาท และบริษัทย่อยนี้ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ราวปี 54
ทั้งนี้ การทำตั๋วร่วมดังกล่าวจะได้มาตรฐานกลางทำให้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย หรือเส้นทางใหม่ได้ใช้ตั๋วในมาตรฐานเดียวกัน และโครงการนี้ได้รับการสสนัยสนุนอย่างดีจากรัฐบาล ซึ่งคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนไม่มาก
*บ.ย่อยช่วยเพิ่มรายได้หลังควบรวมกัน
กรรมการผู้จัดการ BMCL กล่าวว่า บริษัทได้ทำการควบรวมบริษัทย่อย 3 แห่งเป็นบริษัทเดียว เป็นบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด(Bangkok Metro Networks Ltd.)ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วเมื่อ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท และคิดว่าจะเพิ่มทุนอีกประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อที่จะทำให้เกิดสภาพคล่องในบริษัทนี้ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายใน 3 เดือน
ทั้งนี้ BMCL ถือหุ้น 65.19% ส่วนที่เหลือถือโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เคยถือหุ้น 3 บริษัทย่อยเดิม ได้แก่ ตระกูลยิ้มวิไล ตระกูลคุณาวัฒน์ เป็นต้น
บริษัทย่อยดังกล่าวจะสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ในปีนี้แต่ยังไม่มาก จากที่บางบริษัทขาดทุน ทำให้บริษัทไม่ต้องแบกภาระบริษัทย่อยอีกต่อไป และยังได้ facility เพิ่มศักยภาพในการให้บริการ โดยคาดว่าปี 52 จะมีรายได้ 150-200 ล้านบาท และปี 53 จะเพิ่มเป็น 200-250 ล้านบท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรายได้รวม
"ปีนี้เราควบรวมบริษัทย่อยก็ทำให้เรามีรายได้มากขึ้นและรายจ่ายก็น้อยลง"นายสมบัติ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในปีนี้บริษัทจะติดตั้งจอแสดงตารางเวลาของรถไฟฟ้า หรือ Passenger Information Display ซึ่งจะติดตั้งภายในสถานีและภายในรถไฟฟ้าด้วย และจอดังกล่าวจะมีเวลาเหลืออยู่ที่บริษัทสามารถนำมาขายโฆษณาได้ ก็จะทำให้บริษัทย่อยมีมีรายได้เพิ่ม ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งจอฯได้ราวไตรมาส 2/52 และปลายปี เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ได้
BMCL เป็นผู้เดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงิน(ส่วนแรก) เป็นเวลา 25 ปี โดยสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 1 ก.ค. 2572 จากที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ 3 ก.ค. 47 และได้สิทธิปรับราคาค่าโดยสารทุกๆ 2 ปี