ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ปิดร่วง 115.89 จุด เหตุนลท.ไม่มั่นใจแผนล้างสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 25, 2009 06:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนชะลอการซื้อขายลงเพราะไม่มั่นใจว่าแผนการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากบัญชีธนาคารพาณิชย์จะได้ผลหรือไม่ หลังจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นว่าแผนดังกล่าวอาจจะล้มเหลว โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงหนักสุด

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 115.89 จุด หรือ 1.49% แตะที่ 7,659.97 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 16.67 จุด หรือ 2.03% แตะ 806.25 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 39.25 จุด หรือ 2.52% แตะ 1,516.52 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.65 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2,144 ต่อ 917 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.02 พันล้านหุ้น

อาร์เธอร์ โฮแกน นักวิเคราะห์จาก Jefferies & Co กล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กระยะนี้คาดเดาได้ไม่ยาก ผมคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าดัชนีจะดิ่งลงราว 2%ในวันอังคาร หลังจากทะยานขึ้นถึง 6.8%เมื่อวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มประเมินว่าแผนสะสางสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจะประสบความสำเร็จหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาวิพากษ์วิจารย์แผนดังกล่าว"

กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ "โครงการลงทุนภาครัฐ-เอกชน" (Public-Private Investment Programme) ซึ่งแผนการดังกล่าวจะช่วยยับยั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยและช่วยฟื้นฟูระบบการเงินในสหรัฐ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์สหรัฐต้องถือครองตราสาร MBS ไว้ทั้งๆที่มีคุณภาพต่ำและไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้ระบบการเงินตกอยู่ในภาวะชะงักงันและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ

กระทรวงการคลังระบุว่า รัฐบาลจะสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาส่วนในโครงการ ด้วยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงและรับประกันตราสารหนี้โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และบรรษัทประกันเงินฝากของรัฐบาลกลาง (FDIC) ซึ่งหมายความว่านักลงทุน รวมถึงกลุ่มไพรเวท อิควิตี้, นักลงทุนรายย่อย, กองทุนบำเน็จบาญ และบริษัทประกัน จะแบกรับความเสี่ยงน้อยมาก ขณะที่ฝั่งรัฐบาลแบกความเสี่ยงไว้ถึง 93%

อย่างไรก็ตาม พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เชื่อว่าแผนการดังกล่าวจะล้มเหลวอย่างแน่นอน พร้อมกับแนะนำว่าแทนที่จะนำงบประมาณของชาติไปซื้อสินทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพและขาดสภาพคล่อง รัฐบาลควรรับประกันตราสารหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ควบคุมบริษัทที่เข้าข่ายล้มละลายและสะสางบัญชีทรัพย์สินของบริษัทเหล่านี้ เหมือนกับที่รัฐบาลสวีเดนทำในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดและไกธ์เนอร์ ร่วมแถลงกรณีเงินโบนัสของบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ต่อคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งวุฒิสภาสหรัฐเมื่อคืนนี้ โดยไกธ์เนอร์เรียกร้องสภาคองเกรสให้เพิ่มสิทธิอำนาจให้กับกระทรวงการคลังเพื่อรับมือกับสถาบันการเงินที่ประสบปัญหา รวมถึง บริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) และเลห์แมน บราเธอร์ส

หุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นซิตี้กรุ๊ปดิ่งลง 3.5% หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ร่วงลง 7.2% หุ้นเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ดิ่งลง 8.6% และหุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ร่วงลง 3.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ