ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลบเมื่อคืนนี้ (24 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร เพราะไม่มั่นใจว่าแผนการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากบัญชีธนาคารพาณิชย์ของกระทรวงการคลังสหรัฐจะได้ผลหรือไม่ นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเหมืองแร่ร่วงลงเช่นกัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนี FTSE 100 ปิดร่วง 41.35 จุด แตะที่ 3,911.46 จุด หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 3,878.42-3,992.42 จุด
เดวิด มอร์ริสัน นักวิเคราะห์จาก GFT ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า "ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นลอนดอนซบเซาลงเนื่องจากนักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่า แผนการขจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากบัญชีธนาคารพาณิชย์ของกระทรวงการคลังสหรัฐจะได้ผลหรือไม่ หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารย์ในด้านลบจากผู้เชี่ยวชาญหลายคน โดยเฉพาะ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล"
กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ "โครงการลงทุนภาครัฐ-เอกชน" (Public-Private Investment Programme) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะยับยั้งเศรษฐกิจถดถอยและช่วยฟื้นฟูระบบการเงินในสหรัฐ แต่ ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ มองว่าแผนการดังกล่าวอาจล้มเหลว พร้อมกับแนะนำว่าให้รัฐบาลสหรัฐใช้ยุทธศาสตร์การสะสางบัญชีหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์แบบเดียวกับที่รัฐบาลสวีเดนทำในช่วงทศวรรษที่ 1990
ทั้งนี้ ห้นกลุ่มธนาคารดิ่งลงอย่างหนัก โดยหุ้น HSBC ร่วงลง 6.3% หุ้นธนาคารลอยด์ ร่วงลง 5.7% และหุ้นธนาคารบาร์เคลย์ส ร่วงลง 3.1%
ส่วนหุ้นเหมืองแร่ร่วงลงเช่นกัน โดยหุ้นแองโกล อเมริกัน ดิ่งลง 3.2% หุ้นอันโตฟากัสตา ร่วงลง 3.8% หุ้นบีเอชพี บิลลิตัน ปิดดิ่งลง 6.7% หุ้นเวแดนตา รีซอร์สเซส ปิดร่วง 7.2% และหุ้นเอ็กซ์สตราตาร่วงลง 8%
สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศปรับตัวสูงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารที่แพงขึ้นและเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง แม้ว่าเศรษฐกิจของอังกฤษอยู่ในภาวะถดถอยก็ตาม
ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้น 3.2% จากปีก่อน ซึ่งสูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6% และสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษที่ไม่ต้องการให้เงินเฟ้อเกิน 3% ด้วย