ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร MAJOR ที่ระดับ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 25, 2009 16:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ (MAJOR) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี โอกาสในการขยายธุรกิจในต่างจังหวัด และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณและความนิยมของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ระยะเวลาการฉายในโรงที่สั้นลงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี การแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ และการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีที่ละเมิดลิขสิทธิ์

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำทางการตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาอัตรากำไรเอาไว้ได้ โดยคาดว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งจะติดตามประเมินผลกระทบจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่จะมีต่อธุรกิจผลิตภาพยนตร์และธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 80% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัทก่อตั้งในปี 2537 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 37% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริการโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ บริการสื่อและโฆษณา ธุรกิจให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงธุรกิจจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นใน บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) 37% ใน บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 24% ในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ไลฟ์สไตล์ 33% ใน บริษัท ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ จำกัด 40% และใน บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 41% ทั้งนี้ ความสามารถในการให้บริการด้านบันเทิงที่หลากหลายช่วยให้บริษัทสามารถผสานประโยชน์ผ่านการรวมบริการและออกแผนส่งเสริมการขายระหว่างบริการต่างๆ ร่วมกัน

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 บริษัทให้บริการโรงภาพยนตร์ 46 แห่ง ด้วยจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 344 จอ และที่นั่งมากกว่า 84,000 ที่นั่ง แบ่งเป็นโรงภาพยนตร์ 26 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 20 แห่งในต่างจังหวัด สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงนั้น บริษัทได้ขยายโรงภาพยนตร์ไปยังแหล่งศูนย์กลางธุรกิจและชุมชนสำคัญหลายแห่งโดยมีโรงภาพยนตร์ที่ใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าทุกกลุ่ม บริษัทวางแผนในการเพิ่มฐานรายได้โดยการเพิ่มโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยในต่างจังหวัดเพื่อให้ทันกับความนิยมภาพยนตร์ไทยที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในต่างจังหวัด

ผลการดำเนินงานของบริษัทได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จำหน่ายภาพยนตร์ รายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับปัจจัยที่เป็นผลกระทบหลายประการ ได้แก่ การแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ระยะเวลาที่สั้นลงในการฉายภาพยนตร์ในโรงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี และการแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่นๆ โดยที่ปัจจัยเหล่านี้อาจลดความต้องการชมภาพยนตร์นอกบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกิจกรรมสันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์

ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จำนวน 5,328 ล้านบาท ลดลง 8.2% จากปีที่ผ่านมาเนื่องจากรายได้จากการจำหน่ายตั๋วภาพยนตร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะมีภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมเข้าฉายจำนวนน้อยรวมถึงการเลื่อนกำหนดการฉายภาพยนตร์ที่ลงทุนสูง 2 เรื่อง ได้แก่ ตำนานสมเด็จพระนเรศวร 3 และ Harry Potter & the Half-blood Prince ออกไปเป็นปี 2552 รายได้ที่มาจากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดของบริษัท บริษัทมีรายได้ในปี 2549 และ 2550 เพิ่มขึ้น 8.3% และ 13.6% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากการฉายภาพยนตร์เรื่อง Pirates of the Caribbean และ Mission: Impossible III ในปี 2549 และการฉายภาพยนตร์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวร 1 และ 2 ในปี 2550 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 34% ในปี 2550 เป็น 38% ในปี 2551 เนื่องมาจากการมีอัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้นจากธุรกิจจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของค่าตัดจำหน่ายสิทธิ์การเช่าพื้นที่และค่าเช่าที่ได้ปรับกลับเป็นรายได้

บริษัทมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นมากจาก 730 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 1,129 ล้านบาทในปี 2548 เนื่องจากบริษัทได้ซื้อกิจการของ บริษัท อีจีวี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในช่วงปลายปี 2547 เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 1,200 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หนี้สินรวม (รวมมูลค่าปัจจุบันของค่าเช่า) เพิ่มขึ้นจาก 6,212 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 6,485 ล้านบาทในปี 2551 เนื่องจากบริษัทกู้เงินระยาวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาระค่าเช่าจะไม่เพิ่มมากนักเนื่องจากในการขยายสาขานั้น บริษัททำสัญญาในรูปแบบแบ่งปันรายได้แทนการจ่ายค่าเช่าประจำ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 52.5% ในปี 2550 เป็น 55.2% ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปเนื่องจากบริษัทมีแผนจะขยายสาขาและสร้างโรงภาพยนตร์แบบเดี่ยวแห่งใหม่โดยจะใช้เงินทุนจากทั้งกระแสเงินสดภายในและการกู้ยืมเป็นหลัก สภาพคล่องของบริษัทถือว่าพอเพียงโดยที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-21% ในช่วงปี 2548-2551 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 4-5 เท่า ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตรากำไรให้อยู่ในระดับที่พอเพียงอันเนื่องมาจากลักษณะของธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ใช้ระบบแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างโรงภาพยนตร์และเจ้าของลิขสิทธิ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ