ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (25 มี.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกิดคาด รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนจำนวนมากยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับแผนซื้อหนี้เสียของกระทรวงการคลังสหรัฐ และดีมานด์การประมูลพันธบัตรรัฐบาลที่อ่อนแอลงทำให้เกิดความกังวลว่ารัฐบาลอาจประสบความยากลำบากในการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 89.84 จุด หรือ 1.17% แตะที่ 7,749.81 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 7.76 จุด หรือ 0.96% แตะ 813.88 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 12.43 จุด หรือ 0.82% แตะ 1,528.95 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.77 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 2137 ต่อ 123 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.49 พันล้านหุ้น
อลัน สการ์แองก้า นักวิเคราะห์จาก Edward Jones ในกรุงนิวยอร์ก ตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับแรงหนุนจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่ระบุว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 3.4% แตะที่ 1.656 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสถิติที่ปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน และเป็นการทะยานขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.ปี 2550 หลังจากยอดสั่งซื้อดิ่งลง 7.3% ในเดือนม.ค.
" หุ้นบริษัทผู้ผลิตขนาดใหญ่ อาทิ โบอิ้ง โค พุ่งขึ้น หลังจากยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพุ่งขึ้นเกินคาดในเดือนก.พ. ส่วนหุ้นกลุ่มก่อสร้างบ้านพุ่งขึ้น 2.2% หลังจากสหรัฐเปิดเผยยอดขายบ้านใหม่เดือนก.พ.พุ่งขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 10 เดือน" นักวิเคราะห์จาก Edward Jones กล่าว
โจนาธาน เบไซล์ นักวิเคราะห์จาก Credit Suisse Holdings USA ในกรุงนิวยอร์กกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ายอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.พ.ของสหรัฐจะร่วงลง 2.6% เนื่องความต้องการสินค้าคงทนในสหรัฐมีแนวโน้มทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะสภาวะขาดแคลนเงินทุนทำให้บริษัทเอกชนปิดโรงงาน ลดการลงทุน และเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก แม้ธนาคารกลางสหรัฐและคณะทำงานของบารัค โอบามา พยายามออกมาตรการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลายครั้งแล้วก็ตาม
กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนก.พ.พุ่งขึ้น 4.7% แตะระดับ 337,000 ยูนิตต่อปี ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว หลังจากยอดขายอยู่ที่ 322,000 ยูนิตต่อปีในเดือนม.ค. และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะลดลงแตะระดับ 300,000 ยูนิต/ปี
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงวิตกกังวลว่าแผนขจัดหนี้เสียของกระทรวงการคลังสหรัฐจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญออกมาท้วงติง โดยกระทรวงการคลังประกาศใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อกำจัดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพออกจากงบดุลบัญชีของธนาคารพาณิชย์ ภายใต้ชื่อ "โครงการลงทุนภาครัฐ-เอกชน" (Public-Private Investment Programme) แต่พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ มองว่าแผนการดังกล่าวอาจล้มเหลว