บมจ.เอ็มดีเอ็กซ์(MDX)คาดว่ารายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินหินบูนส่วนขยายในประเทศลาวจะเข้ามาหลังจากเริ่มจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 1 มี.ค.2555 ซึ่งจะผลักดันรายได้ของบริษัทลูกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากปัจจุบันมีรายได้ปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะเพิ่มเป็นประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยบริษัทจะรับรู้ตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของ MDX ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเป็นกว่า 1 พันล้านบาท จากที่ทรงตัวอยู่ราว 650-700 ล้านบาทตั้งแต่ปี 52-54
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุนส่วนขยาย มีกำลังการผลิต 280 เมกะวัตต์ ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)จำนวน 220 เมกะวัตต์ และขายให้รัฐบาลลาว 60 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นจากโครงการเทินหินบูนช่วงแรก 210 เมกะวัตต์ให้กับ กฟผ. ล่าสุดรัฐบาลเพิ่งอนุมัติให้ กฟผ.ลงทุนวางระบบสายส่งรองรับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าว
นายปรีชา เศขรฤทธิ์ กรรมการบริหาร MDX กล่าวว่า ภายใต้สัญญาสัมปทานเทินหินบุนส่วนแรกและส่วนขยายจะมีการปรับระยะเวลาสัมปทานขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จากเดิม 25 ปีสิ้นสุดในปี 2566 ขยายเวลาไปเป็นสิ้นสุดในปี 2582 ส่วนเงินลงทุนโครงการส่วนขยายใช้เงิน 600 ล้านเหรียญสหรัฐได้เงินกู้แล้ว
อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุนอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท เทินหินบุน จำกัดที่จดทะเบียนในลาว โดยบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ ลาว จำกัด ถือหุ้นอยู่ 20%(MDX ถือหุ้นอยู่ 99.99%ในบริษัท เอ็ม ดี เอ็กซ์ ลาว จำกัด)ส่วนที่เหลือ 60% ถือโดยการไฟฟ้าลาว และ 20% ถือโดยกลุ่ม Nordic Hydropower AB
ส่วนโครงการน้ำงึม 3 บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาการซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ.ซึ่งยังรอประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ขณะนี้ปรับตัวลดลง ซึ่งบริษัทก็พยายามจะเจรจาให้จบโดยเร็วที่สุด หากปีนี้ไม่สามารถหาข้อยุติได้โครงการจะเลื่อนออกไปจากแผนที่คาดว่าจะเริ่มจ่ายไฟในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2558 แต่โครงการนี้ได้เซ็นเอ็มโอยูการขายไฟฟ้าไปในระดับหนึ่งแล้ว
โครงการน้ำงึม 3 มีมูลค่าลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 440 เมกกะวัตต์ ดำเนินการโดยเอ็มดีเอ็กซ์ลาว ถือหุ้น 27% และผู้ร่วมลงทุนอีก 3 กลุ่ม คือ รัฐบาลลาว ถือ 23%, บริษัท มารูเบนิ คอร์ปอเรชั่น ถือ 25% และบมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง(RATCH) ถือสัดส่วน 25%
"2 โครงการนี้ถือว่าใช้เงินเยอะ และเราก็มีความสามารถทั้งกำลังเงินและ กำลังคน คิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว ถ้าหาโครงการเพิ่มเราก็ต้องหา resouces เข้ามาอีก" นายปรีชา กล่าว
สำหรับโครงการเขื่อนท่าซางในพม่า นายปรีชา กล่าวว่า ขณะนียังไม่มีความคืบหน้า เพราะมีอุปสรรคปัจจัยหลายอย่าง แต่บริษัทก็เตรียมการไว้ตลอด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน แต่บริษัทไม่ได้ล้มเลิกโครงการนี้ ซึ่งหากมีโอกาสก็จะเดินหน้าต่อ
*ปี 52-54 เน้นประคองตัวฝ่าวิกฤติ
นายปรีชา กล่าวว่า ในช่วงปี 52-54 ขอประคองตัวไม่หวังเติบโตทั้งรายได้และกำไร งดลงทุนโครงการใหม่ หวังเพียงการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ตั้งเป้าไว้ที่ 50 ไร่/ปีเป็นตัวดันรายได้ ขณะที่การขายไฟฟ้าจะทำรายได้เข้ามาสม่ำเสมอ ก่อนจะมีรายได้จากส่วนขยายน้ำเทินหินบุนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจะเข้ามาในปี 55 แต่ยอมรับเดินมาถูกทางแล้วที่เข้าธุรกิจพลังงานสร้างความมั่นคงให้บริษัท
ผลประกอบการของปี 52 คงไม่แตกต่างกับปี 51 ที่มีรายได้ 650 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 125 ล้านบาท โดยอัตรากำไรขั้นต้นก็จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 35-40% โดยรายได้หลักก็ยังมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเทินหินบุน
ทั้งนี้ ในปี 51 รายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนราว 65% ของรายได้รวม ขณะที่รายได้จากการขายที่ดินในนิคมฯทยอยปรับลงเหลือ 5-10%
นายปรีชา กล่าวว่า รายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมมีความไม่แน่นอน โดยปีนี้ตั้งเป้าไว้ 50 ไร่เท่ากับปีก่อน ซึ่งขณะนี้บริษัทมีพื้นที่ส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 500-600 ไร่ คาดว่าจะทยอยขายจนหมด และยังไม่มีแผนจะทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่แต่อย่างใด ส่วนยอดขายที่ดินในปีก่อนจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้(backlog)ราว 30-40 ไร่
ทั้งนี้ บริษัทมีพื้นที่ส่วนที่บริษัทเป็นเจ้าของจำนวน 500-600 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะทยอยขายจนหมด และยังไม่มีแผนจะทำโครงการนิคมอุตสาหกรรมใหม่แต่อย่างใด
"ธุรกิจของเรากำไรจะไม่หวือหวา เราต้องพยายามประคองตัว จากสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ "นายปรีชากล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จาการขายสาธารณูปโภค โดยปีก่อนมีรายได้ราว 100 ล้านบาทแต่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากที่โรงงานหยุดการผลิตบางส่วน และลดพนักงาน ทำให้การใช้สาธารณูปโภคลดลงตามไปด้วยประมาณ 10-15% โดยโรงงานในนิคมฯส่วนใหญ่เป็นธุรกิจยานยนต์ (โดโยต้า, อีซูซุ)และบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ รวมทั้งหมดมีประมาณ 50 โรงงาน
*ยังไม่มีแผนล้างขาดทุนสะสม-ลดพาร์-ลดทุน/โต้ข่าวกลุ่มทุนตะวันออกกลางสนใจถือหุ้น
นายปรีชา กล่าวว่า ตั้งแต่บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อกลางปี 49 และกลับเข้ามาเทรดในตลาด หมวดพลังงาน แต่ก็ยังมีผลขาดทุนสะสมยังมีอยู่ จนถึงสิ้นปี 51 มีอยู่ประมาณ 3.4 พันล้านบาท และยังไม่มีแผนล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดในคราวเดียว แต่จะทยอยแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมด้วยผลประกอบการของบริษัท
ส่วนกระแสข่าวที่บริษัทจะลดพาร์หรือลดทุนนั้น นายปรีชากล่าวว่า ยังไม่มีการหารือกัน และปัจจุบันส่วนเกินมูลค่าหุ้นของบริษัทก็แทบไม่มี แม้ว่าบริษัทเข้าใจว่าผู้ถือหุ้นก็ต้องการเงินปันผล แต่ก็ต้องดูความพร้อมของบริษัท หลายๆด้าน
นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้สินเหลืออยู่ประมาณ 1.3-1.4 พันล้านบาท โดยแผนการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการยังไม่จบโดยยังเหลือเวลาอีก 12 ปี โดยการชำระหนี้สินจะทยอยเพิ่มเป็นขั้นบันได โดยปีนี้บริษัทต้องชำระหนี้เงินต้นบวกดอกเบี้ย รวมประมาณ 40-50 ล้านบาท เชื่อว่าบริษัทสามารถทยอยชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
สำหรับกระแสข่าวที่มีกลุ่มนักลงทุนจากตะวันออกกลางจะเข้าลงทุน MDX นั้น นายปรึชากล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีรายใดเข้ามาติดต่อบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทก็ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องหาพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งหากต้องการก็ต้องพิจารณาว่าจะเข้ามาเสริมธุรกิจส่วนใด เรื่องเงินทุนหรือเทคโนโลยี
"ถามเรา ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้รับการติดต่อ" นายปรีชา กล่าวทิ้งท้าย