บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่ระดับ“AAA"ด้วยแนวโน้ม“Stable"หรือ“คงที่"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ความเข้มแข็งของปริมาณสำรองปิโตรเลียม และการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแรงและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งแม้ว่าราคาปิโตรเลียมจะลดต่ำลงและบริษัทมีรายจ่ายจากแผนการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2552-2553
แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนการคาดการณ์ว่า ปตท.สผ.จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้แม้จะต้องเผชิญกับภาวะถดถอยของตลาดก๊าซธรรมชาติ ปัญหาความต้องการก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในช่วงนี้ซึ่งสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจน่าจะบรรเทาลงบางส่วนจากการที่บริษัททำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับบมจ.ปตท.(PTT)ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปเพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งในด้านการดำเนินงานและความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
ทริสเรทติ้ง รายงานว่า ปตท. สผ.เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ถือหุ้นใน ปตท. สผ. จำนวน 65.5% ทั้ง ปตท. และ ปตท. สผ. ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย ในฐานะที่เป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ปตท. สผ. จึงมักได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปตท. สผ. มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดซึ่งรวมแหล่งน้ำมันในต่างประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2551 ที่ระดับ 944 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อพิจารณาจากปริมาณขายที่ 219,314 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2551 แล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท. สผ. น่าจะสามารถนำมาผลิตใช้ได้นานประมาณ 10 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปี ณ สิ้นปี 2551 บริษัทมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 42 โครงการ โดย 15 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา
เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการระดับโลกรายอื่นแล้ว ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ปตท. สผ. จัดว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต(Lifting Cost)ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.82 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2548 เป็น 2.46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2551 ถึงแม้ว่าบริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ ปี 2551 เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 15.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ
แต่บริษัทคาดว่าต้นทุนดังกล่าวจะปรับลดลงได้ในปี 2552 เมื่อรวมปริมาณสำรองปิโตรเลียมของโครงการเอ็ม 9 ฐานะทางการเงินของ ปตท. สผ. ยังคงมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก โดยในปี 2551 บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้น 46.1% เป็น 132,621 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 46.5% เป็น 41,675 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อยู่ในระดับแข็งแรงที่ 13.8% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับ 126.6 เท่าในปี 2551 ในขณะที่ยังคงมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายในระดับสูงที่ 71%-74% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ทริสเรทติ้ง กล่าวว่า แผนการลงทุน 5 ปีของ ปตท. สผ. (2552-2556) ซึ่งจะใช้เงินทุนรวม 485,166 ล้านบาทนั้นอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้จากการปรับประมาณการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2552 อันเป็นผลจากการรวมงบลงทุนโครงการ Coogee Resources ในประเทศออสเตรเลีย
สำหรับงบลงทุน 108,172 ล้านบาทในปี 2552 และ 65,391 ล้านบาทในปี 2553 นั้น จะจัดหาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปีและเงินกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี การก่อหนี้เพิ่มเติมดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องในระดับสูงจากการมีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมทั้งสิ้นอีก 43,995 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551