บมจ.บลิส-เทล (BLISS) ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับซื้อโครงการห้องชุด มูลค่า 154.50 ล้านบาท ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงที่มาที่ไปของการซื้อห้องชุดดังกล่าว และกรณีที่บริษัททำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับ บจ. เอเชีย เอสเตท แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2551 แทนที่จะเป็นบจ.อังเกตุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธ์ห้องชุดดังกล่าว รวมถึงมีความเสี่ยงที่บริษัทจะไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ว่า
โครงการอาคารชุดอังเกตุ พัทยา เป็นโครงการอาคารชุดสูง 18 ชั้น มีทั้งหมด 400 ห้อง และได้ก่อสร้างเสร็จแล้วสามารถขายได้เลย กรรมสิทธิ์เป็นของ บริษัท อังเกตุ โฮลดิ้ง จำกัด โดยบริษัท เอเชีย เอสเตท แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจำนวน 250 ห้องกับบริษัท อังเกตุ โฮลดิ้ง จำกัด ตั้งแต่เดือน เมษายน 2550 และมีการต่อสัญญาขยายระยะเวลามาหลายครั้ง ต่อมา BLISS ได้ซื้อห้องชุดทั้ง 250 ห้องจากบริษัท เอเชีย เอสเตท แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เพราะไม่สามารถซื้อโดยตรงกับ บริษัท อังเกตุ โฮลดิ้ง จำกัด ได้
สำหรับบริษัท เอเชีย เอสเตท แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งตามกฎหมายแห่งประเทศไทย มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ในการค้าอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ฯลฯ ส่วนบริษัท อังเกตุ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นบริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งประเทศไทย มีทุนจดทะเบียน 45 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ในการค้าอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ฯลฯ และการซื้อโครงการดังกล่าวไม่เข้าข่ายของธุรกรรม ซึ่งมีรายการที่เกี่ยวโยงกัน (Connected Transaction)
ส่วนเรื่องความเสี่ยงในการที่จะไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์นั้น เชื่อว่าจะไม่มีปัญหา เพราะสัญญาที่ เอเชีย เอสเตทฯ ทำไว้กับอังเกตุ โฮลดิ้ง มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย และเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 นี้ BLISSs ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวมาแล้ว 130 ห้อง ส่วนที่เหลืออีก 120 ห้อง จะโอนกรรมสิทธิ์กันภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2552
เกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดราคาซื้อขาย และการประเมินมูลค่าโครงการโดยผู้ประเมินราคาอิสระนั้น ห้องชุดทั้ง 250 ห้องของโครงการ อังเกตุ พัทยา ได้มีการประเมินมูลค่าโดยบริษัท ไทยประเมินราคาลินน์ ฟิลลิปส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมูลค่าตลาดที่ประเมินคือ 302,945,410 บาท ดังนั้น การที่ BLISS ทำสัญญาซื้อห้องชุด ทั้ง 250 ห้องมาในราคา 154,500,000 บาท จึงเป็นการซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ BLISS ในการทำกำไรจากการขายต่อให้แก่ลูกค้าได้อย่างมากเช่นกัน
ทั้งนี้ อาคารชุดโครงการอังเกตุ พัทยา ได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้มีการขายให้ลูกค้าเข้าอยู่อาศัย เป็นจำนวน 100 กว่าห้องแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องลงทุนเพิ่มอะไรอีกสามารถขายให้แก่ลูกค้าได้เลย
อย่างไรก็ตาม บริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าโครงการดังกล่าวอยู่ในทำเลที่ดี เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง มีชาวต่างชาติมาทำธุรกิจและพักอาศัยเป็นจำนวนมาก และราคาที่ซื้อมาเป็นราคาที่ถูกและต่ำกว่าราคาตลาดอย่างมาก อีกทั้งโครงการดังกล่าวได้สร้างเสร็จ เรียบร้อยแล้วสามารถนำมาขายต่อได้เลย และจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ BLISS เป็นจำนวนที่น่าพอใจ
อีกทั้งได้มีลูกค้าจำนวน 8 ราย จองซื้อห้องชุดดังกล่าวนี้แล้ว และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2552 ได้โอนกรรมสิทธิ์ขายให้แก่ลูกค้าไป 2 ห้องแล้ว ส่วนที่เหลือลูกค้ากำลังทยอยเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนั้น Bliss จึงคิดว่าโครงการนี้จะก่อให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน
ขณะที่ประเด็นที่บริษัทนำเงินทุนหมุนเวียนไปซื้อโครงการห้องชุดดังกล่าว ทั้งๆ ที่รายงานผู้สอบบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2551 ข้อ 3 และ 18 ระบุว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินกับธนาคารพาณิชย์สองแห่งจำนวน 296 ล้านบาท ซึ่งผลการจากการผิดนัดอาจทำให้ธนาคารมีสิทธิเร่งให้บริษัทชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันที เนื่องจากราคาที่ได้รับถูกและต่ำกว่าราคาตลาดมาก และจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างมากเช่นกัน จึงต้องตัดสินใจดำเนินการเช่นนั้น และ BLISS ก็ยังคงเจรจาขอลดหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้อยู่ และยังคงชำระดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้มาโดยตลอด
ดังนั้น การที่ BLISS ซื้อโครงการดังกล่าวมาก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทเพิ่มขึ้นจากการประกอบธุรกิจขายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทอีกช่องทางหนึ่ง