ฟิทช์ลดเครดิตสกุลเงินตปท.ตราสารหนี้ Hybrid Tier1ของ KTBเป็น BB+จากBBB-

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 27, 2009 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารกรุงไทย(KTB)เป็น ‘BB+’ จาก ‘BBB-’ (BBB ลบ) และอันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’

ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว Issuer Default Rating(IDR)ของธนาคาร ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอับดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB+’

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’

ฟิทช์ ระบุว่าการปรับลดอันดับเครดิตของตราสารหนี้ Hybrid Tier 1 เป็นผลมาจากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการประกาศงดจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิ Hybrid Tier 1 เนื่องจากการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของภาวะเศรษฐกิจ โดยประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของฟิทช์ คาดว่าเศรษฐกิจของไทยจะหดตัวลง 3.8% ในปี 2552

ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)การจ่ายดอกเบี้ยของตราสารหนี้ Hybrid Tier 1 สามารถจ่ายจากกำไรหรือกำไรสะสมของธนาคาร แต่ในปีที่ธนาคารพาณิชย์นั้นมีผลการดำเนินงานขาดทุน การจ่ายดอกเบี้ยจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากธปท.เป็นรายกรณีไป โดยพิจารณาจากฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เช่น ฐานะเงินกองทุน ความสามารถในการทำกำไร และระดับกำไรสะสม เป็นต้น

ด้วยกำไรสะสมของ KTB จำนวน 37.2 พันล้านบาท มีความเป็นไปได้ที่ ธปท.อาจอนุญาตให้ KTB ประกาศจ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ดังกล่าว ถึงแม้ว่าธนาคารจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน แต่ฟิทช์ยังมองว่าแนวโน้มของผลการดำเนินงานและเงินกองทุนของธนาคารที่อาจอ่อนแอลงอย่างมากในอีกสองปีข้างหน้า ส่งผลให้ความเสี่ยงในการประกาศงดจ่ายดอกเบี้ยตราสารหนี้ Hybrid Tier 1 เพิ่มขึ้น

ฟิทช์มองว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 16% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ที่จัดตั้งโดยธปท.ถือหุ้นในสัดส่วน 55%

เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญของ KTB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามการสนับสนุนจากภาครัฐอาจจะไม่ครอบคลุมไปถึงหนี้ที่มีลำดับชั้นในการรับชำระคืนที่ต่ำ เช่น ตราสารหนี้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน

KTB มีผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นในปี 2551 โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 12.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ถึงแม้ว่าธนาคารมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO จำนวน 2.4 พันล้านบาทในปี 2551 การขยายตัวของสินเชื่อ (เพิ่มขึ้น 9.2% จากปี 2550) และต้นทุนเงินฝากที่ลดลงช่วยให้ KTB สามารถรักษาส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่ระดับ 3.6% ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ KTB คาดว่าจะอ่อนแอลงในปี 2552 เนื่องจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยสุทธิที่คาดว่าจะลดลงจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะที่แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลงอาจส่งผลให้การตั้งสำรองหนี้ที่สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ประมาณ 41% แม้อัตราส่วนสภาพคล่องของ KTB จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง แต่จากการที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านสภาพคล่องของธนาคารลดลงในระดับหนึ่ง

KTB มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ลดลงมาอยู่ที่ 86 พันล้านบาท (8.3% ของสินเชื่อ) ณ สิ้นปี 2551 จาก 96.8 พันล้านบาท (10.1% ของสินเชื่อ) ณ สิ้นปี 2550 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการตัด NPL ออกจากบัญชีและการปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า NPL ของธนาคารจะเพิ่มขึ้นในปี 2552

แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB จะปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมที่ 10% และ 15% ตามลำดับ แต่คาดว่าจะสามารถช่วยให้ธนาคารรับมือกับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB อาจปรับตัวลดลงอย่างมากหากอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้กับธนาคารพาณิชย์อื่น หรือ ธนาคารมีการขยายสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ