ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานบริหารกลุ่ม CIMB GROUP ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยธนาคาร(BT) เปิดเผยว่า ธนาคารได้แต่งตั้งนายสุภัค ศิวะรักษ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ของ BT และเตรียมเดินหน้าปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของธนาคาร รวมถึงการรีแบรนดิ้ง โดยเปลี่ยนชื่อและโลโก้เป็น ธนาคาร CIMB THAI ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมขออนุญาตปรับเปลี่ยนจากทางการ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนพ.ค.หรือต้น มิ.ย.
สำหรับภารกิจของ BT หลังการเพิ่มทุนแล้วเสร็จ จะก้าวสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารอยู่ภายใต้การถือหุ้นของ CIMB ซึ่งมีเครือข่ายธนาคารในอาเซียน ก็จะเป็นช่องทางการสร้างมูลค่าในตลาดอาเซียนได้มากขึ้น
ประธานบริหารกลุ่ม CIMB GROUP ยังกล่าวด้วยว่า จากแผนเพิ่มทุนของ BT โดยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและการออกตราสารหนี้ประเภท Hybrid Tier 2 วงเงิน 5 พันล้านบาทแล้วเสร็จในเดือนมี.ค.52 ก็จะทำให้ธนาคารพร้อมจะกลับมาทำธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่ง CIMB ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 93.15% ของ BT พร้อมจะสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่
CIMB GROUP ยังไม่มีแผนที่จะนำ BT ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าสัดส่วนหุ้นที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย(ฟรีโฟลต)จะต่ำกว่าเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ดังนั้น ธนาคารจะต้องหารือกับ ตลท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
"ยืนยันว่า CIMB GROUP ไม่มีนโยบายลดสัดส่วนการถือหุ้นใน BT และไม่มีแผนจะออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์"ประธาน CIMB GROUP กล่าว
การเพิ่มทุน 5 พันล้านบาทให้กับ BT นั้น มั่นใจว่าจะทำให้ธนาคารมีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ และหวังว่าในปีนี้ธนาคารจะมีผลกำไรจากการดำเนินงาน แต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถสร้างกำไรสุทธิได้หรือไม่ เนื่องจากธนาคารยังมีภาระที่จะต้องลงทุนด้านต่าง ๆ เพิ่ม
"เราเชื่อว่าเงินทุนที่มีของไทยธนาคาร จะช่วยทำให้ฐานะของธนาคารมีความแข็งแกร่ง มีระดับ BIS ที่ 12% โดยเป็น Tier 1 (กองทุนขั้นที่ 1)มากกว่า 6% ซึ่งเชื่อว่ากองทุนที่มีจะทำให้ธนาคารเติบโตไปพร้อมกับการสร้างผลกำไรในอนาคตได้ ขณะเดียวกัน CIMB พร้อมที่จะใส่เงินให้ธนาคารเพิ่มเติมในอนาคต" ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าว
ด้านนายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ BT กล่าวว่า หลังการเข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ CIMB GROUP ทำให้ธนาคารมีแผนควบรวมกิจการของบริษัทในเครือทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน คือ บล.ไทยธนาคาร และ บล.CIMB GK ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถเกื้อหนุนธุรกิจกันได้ เนื่องจาก บล.ไทยธนาคาร มีฐานลูกค้ารายย่อย ขณะที่ บล.CIMB GK มีฐานลูกค้าประเภทสถาบัน ซึ่งเมื่อควบรวมกิจการแล้วคาดว่าจะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจดังกล่าวเพิ่มเป็น 0.4-0.5% ทั้งนี้คาดว่าขั้นตอนการควบรวมกิจการจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
นายสุภัค ยังกล่าวถึงแผนทางธุรกิจของธนาคารว่า จะรุกธุรกิจ Corperate Finance และ Invesment Banking ขยายขอบเขตการให้บริการไม่เฉพาะการให้สินเชื่อเท่านั้น แต่พร้อมการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้ลูกค้าที่ต้องการออกหุ้นกู้ หรือ Trade Finance โดยอาศัยฐานลูกค้าของธนาคาร และของ CIMB เพื่อบริการลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น โดยแผนธุรกิจอยู่ระหว่างการหารือ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือน เม.ย.-ต้น พ.ค.
"ช่วง 1 ปีที่มีปัญหาการเพิ่มทุนของธนาคาร ยอมรับว่า มีลูกค้าบางส่วนหายไป แต่ไม่มาก คาดว่าหลังจากนี้ที่การเพิ่มทุนแล้วเสร็จ ธนาคารพร้อมเดินหน้าเพื่อรักษาฐานลูกค้าโดยอาศัยความสัมพันธ์ที่ดี" นายสุภัค กล่าว
สำหรับนโยบายของ CIMB GROUP ที่มาเลเซีย ที่มีโครงการให้พนักงานลางานโดยไม่รับเงินเดือนเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดค่าใช้จ่ายนั้น นายสุภัค กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ CIMB แล้วเห็นว่าขณะนี้ แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ธนาคารอยู่ในช่วงการขยายธุรกิจ พนักงานยังมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมกันทำงานต่อไป จึงยังไม่มีแนวคิดหรือความจำเป็นต้องมีโครงการนี้ ทั้งนี้รวมไปถึงโครงการ เออรี่รีไทร์ ก็ยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้เช่นกัน