(เพิ่มเติม) THAI คาดปี 52 พลิกกำไรตามแผนฟื้นฟูระยะแรก-ขอยืดหนี้-หาสภาพคล่องเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 2, 2009 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูธุรกิจของบมจ. การบินไทย (THAI) กล่าวว่า หลังจากบริษัทดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจในระยะเร่งด่วน จะทำให้ปี 52 บริษัทจะมี EBITDA 3.3 หมื่นล้านบาท และจะมีกำไร 6-7 พันล้านบาท โดยกระบวนการตามแผนงานจะเน้นการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย โดยตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายในปีนี้ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง หรือ 10% ของค่าใช้จ่ายรวม รวมทั้งชะลอการลงทุนที่ไม่เร่งรีบ

"มีความเป็นไปได้ที่เราจะได้ EBITDA 3.3 หมื่นล้านบาท แต่ที่เราตั้งเป้าไว้อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท"นายพิชัย กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมเจรจายืดหนี้ระยะสั้น 1.5 หมื่นล้านบาทออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งกู้เงิน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เสริมสภาพคล่องรองรับธุรกิจที่อาจจะเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน

นายพิชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทขาดสภาพคล่องประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากผลประกอบการในไตรมาส 1/52 ดีขึ้น และจากผลราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้บริษัทแก้ไขปัญหาสภาพคล่องไปได้

"แม้ว่าไตรมาส 1 ผลประกอบการเราจะออกมาดี แต่อีก 9 เดือนข้างหน้าเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงอีกไหม วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะเป็นยังไง เราจึงต้องขอสภาพคล่องไว้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทสำรองเอาไว้ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ...เรื่องการกู้เงินตอนนี้เราช่วยตัวเองสุดชีวิตก่อน คิดว่าการจัดหาสภาพคล่อง 2-3 เดือนนี้น่าจะจบ" นายพิชัยกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) THAI ได้เสนอแผนฟื้นฟูของบริษัทไปยังกระทรวงคมนาคม และ กระทรวงการคลังแล้ว โดยแผนฟื้นฟูธุรกิจแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนฟื้นฟูธุรกิจระยะเร่งด่วน ซึ่งจะดำเนิการเป็นรูปธรรมในปี 52 นี้ โดยเน้นเรื่องการรักษาและเพิ่มคุณภาพ รายได้ ทั้งราคาขายตั๋วโดยสาร ที่ต้องมีการปรับปรุงช่องทางการจำหน่าย โดยจะให้เพิ่มการขายโดยตรง และ ขายตั๋วผ่านเว็บไซด์หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเป็น 5-8% จากปัจจุบันที่ขายได้ในสัดส่วน 3% และหลังจากปรับปรุงด้านไอที คาดจะเพิ่มเป็น 10-15%และการปรับตารางบินจะถี่มากขึ้นจากปัจจุบันปรับตารางบินปีละ 2 ครั้ง เพื่อนำเครื่องบินที่มีอยูี่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

รวมทั้งการปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงต้นทุนเชื้อเพลิง และอัตราแลกเปลี่ยน โดยกรณีการปรับขึ้นหรือลงค่าธรรมเนียมน้ำมันให้รวดเร็วทันสถานการณ์ ซึ่งจะมีผู้รับผิดชอบดูแลต่างหาก นอกจากนี้ บริษัทจะเร่งสร้าความมั่นใจกับตลาดเงินตลาดทุน

*คาดได้ข้อสรุปแผนฟื้นฟูระยะ 2 ใน 3 เดือนข้างหน้า

สำหรับแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 จะเป็นกรอบแนวทางที่จะเดำเนินการจัดทำต่อไป โดยจะจัดทำยุทธศาสตร์เครือข่ายการบินและฝูงบิน , การปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างต้นทุน , การพัฒนาองค์กร บุคคลากร และวัฒนธรรม , การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว โดยจะเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น

นายพิชัย คาดว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าการจัดทำแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 น่าจะเห็นทิศทางชัดเจน โดยแผนฟื้นฟูระยะที่ 2 จะใช้เวลาปฏิบัติไม่น้อยกว่า 2-3 ปี ซึ่งจะต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงจะเห็นผลสำเร็จ

"ผมคิดว่า เฟส 2 เราจะได้ทิศทางบริษัทชัดเจน ที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจ และการปรับโครงสร้างทางการเงิน และแนวทางเพิ่มส่วนของผู้ถือหุ้น ตอนนี้ D/E (Debt Equity Ratio:อัตราหนี้สินต่อทุน) อยู่ที่ 3 เท่า ตอนนี้คงลดได้ไม่มาก แต่ในเฟส 2 ก็อยากให้ไปอยู่ที่ 1.5 เท่า" นายพิชัยกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทจะเจรจากับทางแอร์บัสให้มีการเลื่อนการชำระเงิน ได้แก่ A380 จำนวน 6 ลำ ที่จะทยอยรับปี 53 แต่จะขอเจรจาเลื่อนการชำระเงิน และ A321 A321 ที่สั่งจองไว้ 20 ลำ จ่ายเพียงค่าจอง แต่ยังไม่ได้กำหนดการรับมอบและจ่ายเงิน จึงเห็นว่าน่าจะเจรจากับทางแอร์บัสได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายการบินที่จะต้องทบทวนกัน

ส่วนเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 8 ลำ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยจะรับมอบเครื่องบินในปีนี้ 6 ลำ และ ปีหน้าอีก 2 ลำ แต่อาจเลื่อนรับมอบเครื่องบินออกไปประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น เพื่อให้หาแหล่งเงินกู้ในต่างประเทศ

"ยุทธศาสตร์เครือข่ายฝูงบินให้จัดเป็นไปตามความต้องการของตลาด ก็ต้องดูว่าลูกค้ามาจากไหน มีพฤติกรรมอย่างไร นั่งยาวนั่งสั้น ของเดิมจะใช้ 9-10 รุ่น แต่อาจจะลดเหลือ 4-5 รุ่น และเราคงหนีไม่พ้นที่จะต้องซื้อเครื่องบินจากโบอิ้งและแอร์บัส แต่คงต้องบาลานซ์ เห็นว่าการจัดหาฝูงบินเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องจัดทิศทางและแนวทางให้ชัดเจน" นายพิชัย กล่าว

ส่วนเครื่องบินแอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ ที่บริษัทมีแผนจะขายนั้น นายพิชัยกล่าวว่า ในสถานการณ์เช่นนี้คงยากที่จะขายได้ราคาที่ดี แต่จะไม่ขายขาดทุน

ทั้งนี้ ยอมรับว่าฝูงบินทั้งหมด 84 ลำ มีอายุเฉลี่ย 11 ปี โดยบางลำมีอายุสูงถึง 23 ปี ฉะนั้นการจัดหาเครื่องบินใหม่จะช่วยลดอายุเครื่องบิน และจูงใจให้แก่ผู้ใช้บริการ


แท็ก การบินไทย   (THAI)  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ