ทริสเรทติ้ง เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ BAY

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2009 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เป็นระดับ “AA-" จาก “A+" และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารเป็นระดับ “AA-" และ “A+" จาก “A+" และ “A" ตามลำดับ ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น รวมถึงมูลค่าทางธุรกิจ (Franchise Value) ที่เติบโตยิ่งขึ้น อันดับเครดิตยังสะท้อนการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่ม GE หลังจากที่ GE Capital International Holdings Corporation (GECIH) มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของธนาคารในสัดส่วน 33% การเกื้อหนุนกันทางธุรกิจยังสะท้อนผ่านการที่ธนาคารซื้อกิจการของ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL) ซึ่งเป็นผู้นำอันดับ 2 ในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งส่งผลให้ฐานะการเงินของธนาคารปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตยังมีข้อจำกัดจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง ตลอดจนภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบากขึ้น และการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบันที่อาจจำกัดความสามารถในการขยายธุรกิจและการทำกำไรของธนาคาร

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะสามารถรักษาฐานะทางการเงินเอาไว้ได้และปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นในระยะปานกลาง นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารจะยังคงได้ประโยชน์จากการประสานจุดแข็งทางธุรกิจจากกลุ่ม GE เพื่อเพิ่มสินเชื่อที่สร้างกำไรและขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย โดยการมีการระบบและแนวปฏิบัติในด้านการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในช่วงการขยายตัวด้วยเช่นกัน

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 9.4% และเงินฝาก 8.7% กลยุทธ์ที่จะพึ่งพาจุดแข็งของกลุ่ม GE ซึ่งมีความชำนาญในธุรกิจสินเชื่อรายย่อย (Retail Banking) ทำให้ธนาคารสามารถเติบโตได้ทั้งในแบบปกติตามลักษณะของธุรกิจ (Organic Growth) และแบบก้าวกระโดดผ่านการซื้อกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ธนาคารใช้เงินจำนวน 16.2 พันล้านบาทในการซื้อกิจการของ AYCAL ซึ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อที่มีมูลค่า 75.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ณ วันที่ซื้อกิจการ ณ เดือนธันวาคม 2551 สินเชื่อของธนาคารเติบโตในอัตรา 27% ซึ่งเป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของ AYCAL จำนวน 20% ของสินเชื่อทั้งหมด หลังจากนั้นธนาคารยังซื้อกิจการอีก 2 แห่งจาก American International Group, Inc. (AIG) ในเดือนเมษายน 2552 โดยซื้อกิจการของธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 99.5% และ บริษัท เอไอจีคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด เต็ม 100% คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.6 พันล้านบาท ทั้งนี้ กิจการทั้ง 2 แห่งมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 4% ของสัดส่วนสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มขึ้น และจะขยายสัดส่วนของสินเชื่อรายย่อยอีก 12% จาก 181.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 เป็น 203.3 พันล้านบาท

เมื่อพิจารณาถึงคุณภาพสินทรัพย์ ในปี 2551 ธนาคารสามารถแก้ปัญหาสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในอัตราสูงได้บางส่วนโดยการขายสินทรัพย์ดังกล่าวมูลค่า 15 พันล้านบาทจากมูลค่าทั้งหมด ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 จำนวน 70.6 พันล้านบาท ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเหลือ 9.4% ในปี 2551 จาก 15.4% ในปี 2550 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนดังกล่าวยังถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งอยู่ที่ 6.9% ธนาคารมีสัดส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 1.1 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคาร ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 1.3 เท่าของเมื่อปี 2550 จากผลของการเพิ่มทุนจาก GECIH ในปี 2550 และการขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในช่วงปี 2550 และ 2551 เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และการขยายสินเชื่อที่สามารถเพิ่มผลกำไรของธนาคารในอนาคตจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองด้วย

ธนาคารมีความสามารถในการทำกำไรในปี 2551 ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้เปลี่ยนจากการประกาศผลขาดทุนจำนวน 3.9 พันล้านบาทในปี 2550 มาเป็นผลกำไรจำนวน 4.9 พันล้านบาทในปี 2551 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรวมรายได้จาก AYCAL ธนาคารมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงในปี 2551 ภายหลังการซื้อกิจการของ AYCAL และการปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องการนับเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel II โดยลดลงจาก 20.4% ในปี 2550 เป็น 17.8% ในปี 2551 เมื่อใช้เกณฑ์ Basel I แต่หากรายงานตามเกณฑ์ Basel II แล้ว เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงในปี 2551 ของธนาคารจะเหลือ 14.9% ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง ซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.8%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ