(เพิ่มเติม) BBL เผย Q1/52 มีกำไรสุทธิ 4.9 พันลบ.จาก 5.6 พันลบ.ใน Q1/51

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 20, 2009 18:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อย แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/52 มีกำไรสุทธิ 4.87 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.55 บาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 5.63 พันล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.95 บาท

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ธนาคารบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ 4 ด้าน คือ ด้านสภาพคล่อง รายได้ค่าธรรมเนียม คุณภาพสินเชื่อ และสถานะเงินกองทุน

ธนาคารสามารถรักษาสภาพคล่องในระดับสูง ซึ่ง ณ 31 มี.ค.52 ธนาคารมีเงินฝากทั้งสิ้น 1.338 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 51 จำนวน 27,364 ล้านบาท คิดเป็น 2.1% เป็นผลจากการณรงค์ขยายฐานเงินฝากอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ 84.4% เป็นระดับที่น่าพอใจ

นอกจากนี้ รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นจากหลายผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงธุรกรรมอิเล็กทรอนิคส์ บริการประกันชีวิตผ่านธนาคาร และกองทุนรวม และยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีพอสมควร โดยรายจ่ายที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยอยู่ที่ 9,523 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% จากไตรมาส 4/51 ส่งผลอัตราส่วนรายจ่ายต่อรายได้ไตรมาส 1/52 อยู่ที่ 51.6% จากไตรมาส 4/51 ที่อยู่ 50.5%

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังสามารถควบคุมระดับสินเชื่อด้อยคุณภาพได้ดี โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค.52 สินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เป็นอัตราส่วน 4.8% ของสินเชื่อรวม จาก สิ้นปี 51 ที่อยู่ 4.6% และไตรมาส 1/52 ธนาคารได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 1,955 ล้านบาท ทำให้ ณ สิ้น มี.ค.52 ธนาคารได้สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 60,854 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วน สำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 102.7%

สำหรับส่วนของผู้ถือหุ้น ณ 31 มี.ค.52 มีจำนวน 176,681 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรสุทธิครึ่งปีหลังปี 51 และไตรมาส 1/52 และหักเงินปันผลที่จะจ่ายเดือน พ.ค.นี้ ทำให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นที่ 15.1% และเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.3% ซึ่งเป็นระดับที่แข็งแกร่ง สามารถสนับสนุนให้ธนาคารดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังผันผวนต่อเนื่อง

"จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อลูกค้า ธนาคารจึงมีนโยบายให้บุคลากร ดูแลลูกค้าใกล้ชิดกว่าเดิม เพื่อให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจของลูกค้าอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น เข้าใจผลกระทบที่ลูกค้าได้รับจากวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นแนวทางกระชับสายสัมพันธ์ของธนาคารกับลูกค้าเป้าหมายให้แน่นแฟ้นขึ้น และยังช่วยควบคุมคุณภาพสินเชื่อได้ระดับหนึ่ง"นายชาติศิริ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ