บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) เตรียมเข้าประมูลงานมูลค่ารวมประมาณ 3.2 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 2/52 โดยหวังว่าจะชนะประมูลไม่ต่ำกว่า 30% และในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายอัตรากำไรสุทธิ(Net Profit Margin)เพิ่มขึ้นเป็น 6% จาก 4.8% ในปี 51
นายเจริญ จันทร์พลังศรี ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ TPOLY เปิดเผยว่า บริษัทได้เข้าประมูลงานใหม่ในไตรมาส 2 นี้ มูลค่างาน 3.2 พันล้านบาท คาดว่าจะได้รับงาน 30% ส่วนใหญ่เป็นงานภาครัฐถือว่าเป็นการได้รับงานต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่บริษัทได้รับงานมาแล้วจำนวน 960 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานที่อยู่ระหว่างการรอสัญญา 690 ล้านบาท จากมูลค่างาน 4 พันล้านบาท ถึงแม้มูลค่างานที่ได้รับจะลดลงจากเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1 พันล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทมี Backlog กว่า 2.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นรัฐ 71% เอกชน 29% ที่จะทยอยรับรู้ในปี 52 และ 53 จึงทำให้บริษัทมั่นใจว่า รายได้ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2.2 พันล้านบาท จะสามารถทำได้ตามเป้า และเติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้ 1.7 พันล้านบาท
ขณะที่อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margins) คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดี มาที่ 6% จาก 4.8% ในปีก่อน เนื่องจากปีนี้บริษัทไม่มีการตั้งสำรองหนี้เหมือนปีก่อน และมีการควบคุมต้นทุน
อย่างไรก็ตาม การที่บริษัท มีสัดส่วนภาครัฐในจำนวนที่มากถือว่าเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากมองว่า ภาครัฐจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุน ขณะที่ปริมาณงานของภาคเอกชน ในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
นายเจริญ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหากรณี บล.บีฟิท ที่เกิดขึ้นอยากให้ผู้ถือหุ้นเข้าใจและรอฟังการชี้แจงโดยผู้ถือหุ้นสามารถ ตรวจสอบการถือหุ้นได้หลังจากการปิดสมุดทะเบียนวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังคงถือในสัดส่วนเดิม
ทั้งนี้ จากปัญหาดังกล่าวยอมรับว่า ไม่มีความมั่นใจที่จะให้ บล.บีฟิท เป็นที่ปรึกษาการเงินอีกต่อไป ส่วนจะเปลี่ยน FA หรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุมผู้ถือหุ้น วันที่ 22 เม.ย.นี้ แม้ทางกฎหมายยังมีพันธะตามสัญญาที่ตกลง
"ผมอยากให้ผู้ถือหุ้นใจเย็นๆ ผมเข้าใจว่าพอเกิดกรณีดังกล่าว ราคาหุ้นปรับตัวลดลง และถือว่าต่ำกว่า Book Value ด้วยซ้ำ โดย Book อยู่ที่ 1.80 บาท ทั้งๆที่ราคาที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 2 บาท แต่ให้ผมมองในแง่ดี เรื่องที่เกิดขึ้น ก็ทำให้จำนวนผู้ถือหุ้นมีการกระจายมากขึ้น กว่าพันราย เลยไม่น่ากังวล ว่าจะมีรายไหนเข้ามาทุบได้อีก และลึกๆ ของผมก็ยังได้คำอธิบายจากบีฟิท รวมถึงผู้ถือหุ้นด้วย"นายเจริญ กล่าว
ส่วนกรณี นายธนกฤต เอื้อสงวนกุล ในฐานะผู้ดูแลหุ้น ได้มีการแจ้งทางวาจาถึงเหตุผลที่ขายหุ้นออกมาเนื่องจากได้รับคำสั่งจากบอร์ดให้ดำเนินการ และได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกความเสียหายต่อศาลแพ่งแล้ว แต่ในส่วนของบริษัทคงจะได้แต่รอดูความคืบหน้า และหากศาลรับฟ้องก็เชื่อว่าผู้ถือหุ้นสามารถเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน