นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)คาดว่า กำไรของบริษัทในปี 52 น่าจะออกมาดีกว่าปี 51 ที่มีกำไร 3.22 พันล้านบาท แม้ว่ารายได้จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1.58 แสนล้านบาท เนื่องจากสาเหตุสำคัญ คือ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งก็ปรับลดลงด้วย
"ปีนี้ เชื่อว่า CPF จะมีกำไรสูงกว่าปีก่อน เพราะต้นทุนวัตถุดิบโดยรวมลดลงวประมาณ 10% ขณะที่ต้นทุนด้านการขนส่งก็ลดลงเหลือประมาณ 30-40 เหรียญ/ตันจากเดิมค่าขนส่งอยู่สูงถึง 100-120 เหรียญ/ตัน ซึ่งเป็นผลดีจากการที่บริษัทเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ และ ราคาน้ำมันที่ลดลงด้วย" นายอดิเรก กล่าว
ส่วนการที่รายได้เติบโตไม่มากนัก เนื่องจากในปีนี้การแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะที่บริษัทเร่งขยายแหล่งรายได้ในต่างประเทศ โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จะเพิ่มเป็น 20%จาก 16-17%ในปีก่อน โดยในเดือน พ.ค.นี้จะเปิดสาขาโรงงานอาหารสัตว์ที่รัสเซีย และพยายามจะขยายไปยังต่างประเทศอื่น ๆ เช่น แอฟริกา
นายอดิเรก กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้ขยายการลงทุนเข้าไปในรัสเซีย อินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม ตุรกี และฟิลิปปินส์ รวมทั้งมีแผนจะขยายการลงทุนต่อไปที่แอฟริกา โดยการขยายตลาดต่างประเทศเพื่อสร้างฐานรายได้ใหม่ ๆ ถือเป็นงานหลักของ CPF ซึ่งจะเน้นทั้งธุรกิจอาหารสัตว์ และธุรกิจอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับความนิยมและได้ราคาสูง
ทั้งนี้ CPF จะลดสัดส่วนธุรกิจอาหารสัตว์ในประเทศลง เนื่องจากเป็นสาเหตที่ทำให้บริษัททำกำไรได้น้อย แม้จะมีรายได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท แต่กำไรมีเพียง 3 พันล้านบาท นับเป็นอัตรากำไรราว 2-3% เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจอาหารรายใหญ่ของโลก อย่าง เนสท์เล่ สามารถสร้างอัตรากำไรถึง 6-12% ของรายได้ มากกว่า CPF ค่อนข้างมาก
ดังนั้น บริษัทจะเน้นสร้างมูลค่าของสินค้าอาหาร และเน้นผลตอบแทนจากการลงทุน หากธุรกิจใดให้ผลตอบแทนน้อยก็จะลดสัดส่วนการลงทุนลง
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้ในปีนี้ยังคงเน้นในประเทศ ขณะที่ต่างประเทศก็จะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 20% จากปีก่อน 16-17% โดยยังเชื่อว่าสินค้าหลักคือไก่ปรุงสุกจะมียอดขายใกล้เคียงกับปีก่อนหรือต่ำกว่าปีก่อนไม่มาก และจะหลีกเลี่ยงการขายไก่สด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบจากปัญหาไข้หวัดนก ส่วนกุ้งจะเน้นแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูป เพราะได้ราคาและกำไรดีกว่า
นายอดิเรก กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้เพื่อขายในประเทศ โดยจะเป็นการทยอยอออกจากวงเงินหุ้นกู้ที่ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในวันนี้ 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิมและลงทุน