นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อธิบดีกรมทางหลวง ในฐานะประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุม วานนี้ (22 เม.ย.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตัวเลขราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ สัญญาที่ 1 หรือโครงสร้างยกระดับตะวันออกจากเตาปูน-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 12 กม. ที่ 14,965 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่กลุ่มซีเคทีซี จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งมีบมจ. ช.การช่าง (CK)เป็นแกนนำเสนอราคาครั้งแรกที่ 16,724.50 ล้านบาท
"ในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนจากกลุ่มซีเคทีซี จอยท์เวนเจอร์ เข้าร่วมประชุมเพื่อเจรจาต่อรองราคาด้วย โดยผมขอต่อราคาที่ 14,950 ล้านบาท แต่ผู้แทนกลุ่มซีเคทีซี จอยท์เวนเจอร์ไม่ยอม และตกลงราคาที่ 14,965 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมก็พอใจเพราะถือเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาที่คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาประเมินค่าก่อสร้างไว้ที่ 14,972 ล้านบาท" นายสุพจน์ กล่าว
สำหรับการปรับลดราคาดังกล่าว เป็นผลมาจากการปรับลดค่าเค และการขอยกเว้นค่าใช้จ่ายในการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ซึ่งรฟม.เจรจาขอให้บริษัทผู้รับเหมาออกแบบให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการเปลี่ยนวิธีการคำนวณค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายเป็นแบบจ่ายตามจริงแทนการเหมาจ่าย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ รฟม.จะเสนอผลการเจรจาดังกล่าวให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) ในฐานะเจ้าของเงินกู้ ก่อนจะเสนอครม.ต่อไป คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้
นอกจากนั้นยังจะแจ้งไปยังไจก้าเพื่อขอเปิดข้อเสนอราคาสัญญาที่ 2 หรือโครงสร้างยกระดับตะวันตก จากสะพานพระนั่งเกล้า - สถานีคลองบางไผ่ และงานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศใต้ของสะพานพระนั่งเกล้า ระยะทางรวม 11 กม. ภายในสัปดาห์แรกของเดือนพ.ค.นี้
ทั้งนี้ ยอมรับว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้ากว่าแผนงานกว่า 2 เดือน แต่เชื่อว่าการการดำเนินงานในส่วนของสัญญาที่ 2 และ 3 จะรวดเร็วขึ้น เพราะผู้ปฏิบัติมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาต่อรองราคาในสัญญาที่ 1 แล้ว
นายสุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำหน้าที่ประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ ระยะทาง 12 กม. และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. วงเงิน 28 ล้านบาท โดยที่ปรึกษาจะเตรียมงานประกวดราคาใน 2 ส่วน คือ 1.งานโยธา และ2.งานจัดหาเอกชนมาลงทุน และจะดำเนินการในส่วนงานโยธาก่อน เพราะงานส่วนการจัดหาเอกชนมาลงทุนนั้น จะต้องมีการเจราจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อนจึงจะดำเนินการได้