นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการยอมรับว่าสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าและให้บริการสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่แน่นอนและเชื่อถือได้แก่ลูกค้า รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่คือกลุ่ม GDF SUEZ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่บริษัทพึ่งพากลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัว
ทั้งนี้ ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงแผนการขยายธุรกิจและการซื้อกิจการในช่วง 3 ปีข้างหน้าของบริษัททั้งในส่วนของธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) และธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) ด้วย
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนของโกลว์จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. และกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม โดยปริมาณขายขั้นต่ำที่ระดับเฉลี่ย 70% ของสัญญาจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความต้องการไฟฟ้าและสาธารณูปโภคที่ลดลง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาเป้าหมายทางการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วงที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้เพิ่มเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า โกลว์ก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อประกอบธุรกิจด้านพลังงาน โดยปัจจุบันประกอบด้วยธุรกิจโครงการ IPP และธุรกิจผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันซึ่งรวมถึงโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) โกลว์ถือเป็นกลุ่ม SPP ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 995 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไอน้ำ 967 ตันต่อชั่วโมง (258 เมกะวัตต์เทียบเท่า) บริษัท โกลว์ไอพีพี จำกัด (GIPP) เป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโครงการ IPP โดยรับผิดชอบโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 713 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำรวมทั้งหมดของกลุ่มโกลว์มี 1,966 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยมีสัญญา PPA อายุ 21-25 ปีเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. ในปริมาณรวม 66% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำทั้งหมด ปริมาณไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือซึ่งรวมถึงไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุนั้น บริษัททำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับลูกค้าอุตสาหกรรมซึ่งหลือระยะเวลาของสัญญาอีก 13 ปี ทั้งนี้ สัญญาระยะยาวดังกล่าวถือเป็นแหล่งรายได้ที่แน่นอน ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็น 87% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จาก กฟผ. 70% และจากลูกค้าอุตสาหกรรม 30% ของรายได้จากการขายไฟฟ้าทั้งหมด
ปัจจุบัน โกลว์อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 497 เมกะวัตต์เทียบเท่า และโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการ IPP ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 660 เมกะวัตต์อีก 1 แห่งที่ดำเนินงานโดย บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างโกลว์ (65%) และ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (35%) นอกจากนี้ โกลว์ยังอยู่ระหว่างการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 152 เมกะวัตต์ในประเทศลาวโดยผ่านการซื้อหุ้นใน บริษัท ไฟฟ้าห้วยเหาะ จำกัด ในสัดส่วน 67.25% จากกลุ่ม GDF SUEZ มูลค่าโครงการทั้งหมดของบริษัทคิดเป็นประมาณ 63,000 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาพัฒนาโครงการระหว่างปี 2550-2554 โดยบริษัทมีความต้องการเงินทุนอีกจำนวน 25,000 ล้านบาทระหว่างปี 2552-2554 ธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและอีสเทิร์นซีบอร์ดในจังหวัดระยองส่วนใหญ่ให้บริการแก่ลูกค้าในธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งต้องการกระแสไฟฟ้าที่มีความแน่นอนสูง โรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันของบริษัทประกอบด้วยหน่วยผลิต 21 หน่วยซึ่งเชื่อมโยงกันเพื่อให้ระบบการจ่ายไฟฟ้าและไอน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้หน่วยผลิตต่างๆ สนับสนุนซึ่งกันและกันและสามารถสำรองการจ่ายกระแสไฟฟ้าและไอน้ำให้แก่กัน ซึ่งจะคงอัตราความพร้อมจ่ายได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม โกลว์มีความเสี่ยงจากการมีลูกค้าในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งกระจุกตัวอยู่ในเขตพื้นที่มาบตาพุดเนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีลักษณะที่ผันผวนต่อภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และขณะนี้อยู่ในช่วงชะลอตัว
กลุ่ม GDF SUEZ คงสัดส่วนการถือหุ้นในโกลว์ที่ 69% มาโดยตลอดนับตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนเมษายน 2548 ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2551 SUEZ ได้เข้ารวมกิจการกับ Gaz de France และเปลี่ยนชื่อเป็น GDF SUEZ โดยนโยบายการลงทุนในต่างประเทศของ GDF SUEZ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ GDF SUEZ เป็นกลุ่มพลังงานชั้นนำของโลกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทางด้านพลังงานในยุโรปและนานาชาติ รวมทั้งการค้าก๊าซ และให้บริการด้านพลังงานอื่นๆ ณ สิ้นปี 2551 กลุ่ม GDF SUEZ มีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 60,000 เมกะวัตต์ มีรายได้รวม 83,100 ล้านยูโร และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 13,900 ล้านยูโร อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาโดยตลอดผ่านการให้การสนับสนุนทั้งในด้านกลุ่มผู้บริหารที่มีประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
ในปี 2551 ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทลดลงจากปี 2550 เล็กน้อยเนื่องจากมีการหยุดซ่อมนอกแผนของทั้งโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันและโรงไฟฟ้า IPP โดยระดับความพร้อมจ่ายของโรงผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกันลดลงจากระดับ 95.87% ในปี 2550 เหลือ 94.46% ในปี 2551 และของโรงไฟฟ้า GIPP ลดลงจากระดับ 94.61% เหลือ 91.38% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้อัตราความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสูงขึ้นเล็กน้อยในปี 2551
ในปี 2551 บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำลดลง 2.6% และ 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน ราคาเชื้อเพลิงในช่วงปี 2551 ที่มีความผันผวนสูงทำให้บริษัททำสัญญาซื้อถ่านหินล่วงหน้าในราคาค่อนข้างสูงจนถึงไตรมาสแรกของปี 2552 ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานลดลงจาก 26.05% ในปี 2550 เหลือ 21.42% ในปี 2551 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 41.39% ในปี 2550 เป็น 52.29% ในปี 2551 เนื่องจากโครงการขยายงานอยู่ระหว่างการดำเนินการซึ่งต้องมีการชำระค่าก่อสร้างตามความคืบหน้าของโครงการ นอกจากนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทก็ลดลง 16.7% ในปี 2551 ซึ่งเป็นผลกระทบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงและการหยุดซ่อมโรงไฟฟ้าของบริษัท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงจาก 35.26% ในปี 2550 เหลือ 18.93% ในปี 2551 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทยังคงแข็งแกร่งโดยอยู่ที่ระดับ 2.9 เท่าในปี 2551 และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับ 9.24 เท่าในปี 2551 เพิ่มขึ้นจากระดับ 7.74 เท่าในปี 2550