IECเล็งเดินหน้าลงทุนธุรกิจพลังงานหลังเพิ่มทุน/ล้างหุ้นเกือบเกลี้ยงพอร์ต

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 23, 2009 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสัณห์จุฑา วิชชาวุธ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) เปิดเผยว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทวันนี้ได้อนุมัติการแตกพาร์จากหุ้นละ 1 บาท เหลือหุ้นละ 0.10 บาท รวมทั้งอนุมัติการเพิ่มทุน โดยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 9,071,145,000 หุ้น จัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ภายหลังการแตกหุ้นในอัตราส่วน 2 หุ้นสามัญเดิมต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุนใหม่ ในราคา 0.05 บาท/หุ้น และผู้ที่จองสิทธิจะได้วอร์แรนท์ฟรี

บริษัทเชื่อว่าจะสามารถจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนได้หมดทั้งจำนวน ซึ่งคาดว่าจะได้เงินกว่า 400 ล้านบาท โดยเป้าหมายหลักจะนำเงินไปลงทุนในโครงการพลังงานทางเลือก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในธุรกิจด้านไอที และใช้เป็นเงินทุนในการเข้าประมูลงานของโครงการภครัฐ

"เราเชื่อว่าการเพิ่มทุนจะขายได้หมด เนื่องจากมีกลุ่มพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมจะรับซื้อหุ้นเนื่องจากให้สิทธิสามารถจองเกินสัดส่วนการถือหุ้นได้ และเงินส่วนนี้ก็จะลงทุนในพลังงานทางเลือกและยืนยันว่าบริษัทยังคงธุรกิจไอที และการวางระบบเป็นรายได้หลักมากกว่าพอร์ตลงทุน" นางสัณห์จุฑา กล่าว

นางสัณหจุฑา กล่าวว่า รายได้จากพอร์ตลงทุนในปี 52 จะไม่ได้เป็นรายได้หลัก เพราะ ณ สิ้นไตรมาส 1 พอร์ตการลงทุนในหุ้นเหลือเพียงในหลัก 10 ล้านบาท ซึ่งเป็นหุ้นที่ไม่มีสภาพคล่องจึงไม่สามารถขายได้ทั้งหมด เทียบกับปี 51 ที่บริษัทเคยมีพอร์ตลงทุนในหุ้นสูงสุดถึงกว่า 2 พันล้านบาท โดยบริษัทได้ทยอยขายไปตั้งแต่ ต.ค.51 หลังประเมินว่าภาวะตลาดอาจเข้าขั้นวิกฤติ

การตัดขายหุ้นออกไปดังกล่าวทำให้บริษัทขาดทุนไปถึง 705 ล้านบาท แต่เป็นการบันทึกในคราวเดียว หลังจากนี้จากการที่ภาวะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว การลงทุนในตลาดหุ้นคงเป็นเรื่องยากที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีเหมือนในอดีต แต่บริษัทก็ยังมีคณะกรรมการศึกษาการลงทุน ซึ่งหากมีโอกาสเหมาะสมก็อาจจะมีการลงทุนในหุ้นอีก

ในปีนี้บริษัทจะเน้นธุรกิจไอที โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้เข้าประมูลงานภาครัฐ 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งงานนี้เชื่อว่าจะมีมาร์จิ้นสูงถึง 10% แต่ยังต้องรอผลการประมูลก่อน ซึ่งบริษัทมั่นใจว่ามีประสบการณ์จากงานด้านไอทีที่ทำให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม มูลค่ากว่า 900 ล้านบาท ดังนั้น น่าจะเป็นโอกาสดีและบริษัทยังเน้นการเข้าประมูลภาครัฐต่อเนื่อง

ส่วนการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือ ที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมก็ยังจะทำต่อเนื่อง แต่จะเน้นขายมือถือเฮ้าแบรนด์เพิ่มมากขึ้น อาทิ G-net ซึ่งกำไรดีกว่ามือถือแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง Nokia แต่ยอมรับว่าการขายมือถือแบรนด์เล็กทำให้รายได้ลดลง เนื่องจากราคาต่อเครื่องถูกกว่า แต่โดยรวมกำไรจะดีขึ้น

นางสัณห์จุฑา กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพิพาทกับ บมจ.ดราก้อน วัน(D1) กรณีการซื้อขายหุ้นบจก.แอพพลิเคชั่น โฮสติ้ง (A-HOST)ซึ่ง D1 ซื้อไปบางส่วนและยกเลิกการซื้อในส่วนที่เหลือ ทำให้บริษัทเสียโอกาส จึงเรียกร้องค่าชดเชยในอัตรา 30-50% ของมูลค่าการซื้อขายว่า ทาง D1 ยังไม่รับข้อเสนอ โดยมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยในวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้ข้อรุปและได้รับเงินค่าชดเชยในไตรมาส 2 ปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ