ผู้บริหาร บจ.หลายแห่งติดใจโครงการซื้อหุ้นคืนหลังมองช่วยฟื้นราคาได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 24, 2009 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่เห็นว่าโครงการซื้อหุ้นช่วยฟื้นราคาหุ้นได้ หลังจากภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาส่งผลให้ราคาหุ้นของหลายบริษัทปรับตัวลดลงมากกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่าส่วนใหญ่จะซื้อหุ้นคืนไม่ครบตามจำนวน และยังเตรียมพิจารณาเริ่มโครงการ 2 เมื่อครบกำหนดสิ้นสุดโครงการแรก แม้ว่ามีบางบริษัทก็ยังไม่ค่อยพอใจเนื่องจากปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ไม่ได้คึกคักกว่าเดิมมากนัก

หลังจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.)สามารถดำเนินการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน มีหลายบริษัทเข้าร่วมโครงการนี้ อนึ่ง ภายในเดือนเม.ย.มี บจ.หลายแห่งที่ครบกำหนดเวลาโครงการซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ได้แก่ บมจ.ดีเอสจี อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)หรือ DSGT, บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ(IFEC)และ บมจ. ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส(HANA) และอีกหลายแห่งกำลังจะทยอยครบกำหนดในอีกไม่ช้า

นายณรงค์ เตชะไชยวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ(IFEC)เป็นผู้บริหารรายหนึ่งที่พอใจกับโครงการนี้

"สำหรับผม ผมพอใจนะ เนื่องจากเราเองก็ได้มีการบริหารตาม Cash Flow ของเราด้วย แถมหุ้นที่ซื้อคืนก็เป็นหุ้นที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผล เพราะฉะนั้นบริษัทก็ไม่มีภาระเรื่องเงินปันผล ซึ่งหลังจากนั้นถ้าเรายังอยากจะซื้อเพิ่มตามที่เราขอมติคณะกรรมการบริษัทไว้คือ 6.50% นั้นก็ทำได้ ซึ่งเราต้องดูสถานการณ์ในตอนนั้นอีกที เนื่องจากหลังจบโครงการนี้ เรายังต้องรอ 3 ปี ถึงจะขายหุ้นล็อตนี้ได้ หรือถ้าไม่ขายคืนในตลาดฯเราก็ต้องทำการลดทุน"นายณรงค์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายณรงค์ กล่าวว่า การที่บริษัทตัดสินใจซื้อหุ้นคืนกรณีเพื่อบริหารทางการเงิน บริษัทไม่ได้มีเจตนาหลักที่จะมีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องให้ราคาหุ้น IFEC เท่าไหร่ แม้ว่าก่อนหน้าที่บริษัทจะดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นจะอยู่ที่ 0.30-0.40 บาท แต่ปัจจุบันมาอยู่ที่ เกือบๆ 0.60 บาท

"โครงการซื้อหุ้นคืนก็น่าจะมีส่วนช่วย ซึ่งผมเชื่อว่าหลายๆ บริษัทก็น่าจะพอใจกับโครงการซื้อหุ้นคืนด้วยเช่นกัน เพราะหลายบริษัท ราคาหุ้นมันถูกกว่าความเป็นจริง เนื่องจากธุรกิจเราพยายาม Maintain เรื่องกำไร ไม่ได้เน้นยอดขายเท่าไหร่"นายณรงค์ กล่าว

ด้านแหล่งข่าวของบมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส(HANA) กล่าวว่า บริษัทเพิ่งครบกำหนดโครงการซื้อหุ้นคืนไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา และคงไม่มีการขยายเวลาซื้อหุ้นคืน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องซื้อให้ครบตามจำนวนที่ประกาศไว้ เพียงแต่เวลาขออนุมัติการซื้อคืนเราขอในจำนวนที่มากที่สุด และตามกฎของตลาดหลักทรัพย์ไม่อนุญาตให้ขยายเวลาซื้อหุ้นคืน หลังจากให้เวลามานานถึง 6 เดือนแล้ว แต่หากบริษัทจดทะเบียนจะเริ่มโครงการซื้อหุ้นคืนอีกครั้งต้องรอให้จบขั้นตอนของโครงการแรกก่อน

อย่างไรก็ตาม ผลจากการซื้อหุ้นคืนยอมรับว่าปัจจุบันปริมาณการซื้อขายหุ้น HANA ก็ยังไม่น่าพอใจเท่าไหร่ ซึ่งเข้าใจว่าคงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะตลาดของอุตสาหกรรมนี้ไม่ค่อยดี ผู้บริหารก็จะพิจารณาต่อไปว่าจะมีการดำเนินการซื้อหุ้นคืนในโครงการ 2 หรือไม่

ขณะที่นายวรัญชัย เจนศิริวณิชย์ เลขานุการบริษัท บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)(KEST)กล่าวว่า หลังจากวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำการซื้อหุ้นคืนแล้วแม้ว่าจะมีเวลาเหลือถึง 24 เม.ย.เพราะวัตถุประสงค์หลักคือต้องการรักษาให้ราคาหุ้นไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้ราคาหุ้น KEST ปรับตัวดีขึ้นมาเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราก็ยังมอนิเตอร์ราคาอยู่เรื่อยๆ แต่เนื่องจากเราไม่ได้คิดไล่ราคาแข่งกับนักลงทุนอยู่แล้ว ก็เลยซื้อไปได้แค่ที่ปรากฎอยู่ในรายงานการซื้อหุ้นคืน และวันนี้ก็จะเป็นวันสุดท้ายของโครงการ หากจะดำเนินโครงการซื้อหุ้นคืนในรอบใหม่ บริษัทจะต้องจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนมาแล้วให้หมดหลังจากหมดไซเลนต์ พีเรียด 6 เดือน หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 ปีครึ่งก็จะสามารถขายหุ้นที่ซื้อคืนมาได้จำนวน 0.3892% กลับคืนไปสู่ในตลาดหลักทรัพย์จนหมด จึงจะเริ่มโครงการใหม่ได้

"ต้องจบโครงการเก่าก่อนถึงจะเริ่มโครงการใหม่ได้ ซึ่งการจบโครงการมี 2 วิธี คือ การจำหน่ายหุ้นที่ซื้อคืนมาออกไปให้หมด หรือไม่ก็ต้องรอจนครบระยะเวลาซึ่งแล้วแต่โครงการจะกำหนดแล้วก็ทำการลดทุน มันมีขั้นตอนระบุไว้ ส่วนบริษัทจะมีการขายหุ้นล็อตนี้ออกมาเมื่อไหร่อย่างไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัทว่าจะพิจารณา"นายวรัญชัยให้ข้อมูล

*บจ.ที่ปิดโครงการซื้อหุ้นคืนแล้วส่วนใหญ่ซื้อไม่ครบ

บริษัทจดทะเบียนที่มีโครงการซื้อหุ้นคืนส่วนใหญ่ที่ครบกำหนดซื้อหุ้นคืนไปแล้ว ซื้อหุ้นไม่ครบจำนวนที่กำหนดไว้ โดยกรณีของ DSGT เริ่มซื้อหุ้นคืนตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.51-7 เม.ย.52 ในจำนวนไม่เกิน 15,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยตั้งวงเงินสูงสุดที่จะใช้ซื้อหุ้นคืน 62 ล้านบาท

ปรากฎว่าเมื่อครบกำหนดวันสุดท้ายสามารถซื้อหุ้นคืนไปได้ 10,254,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 3.42 ของทุนชำระแล้ว มูลค่ารวม 30,258,438 บาท เหลือเงินจากการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ 31,741,562 บาท เก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการต่อไป

ด้าน IFEC ที่ประกาศจะซื้อหุ้นคืนจำนวน 26,506,533 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท คิดเป็น 6.50% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด วงเงินสูงสุดที่จะใช้ในการซื้อหุ้นคืน จำนวน 18 ล้านบาท ช่วง 8 ต.ค.51-8 เม.ย.52 สามารถซื้อหุ้น 12,850,000 หุ้น คิดเป็น 3.151% ของทุนที่ชำระแล้ว มูลค่ารวม 6,589,267 บาท ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อหุ้นคืนครั้งนี้จำนวน 11,410,733 บาทนั้น บริษัทจะเก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียนเช่นกัน

ในส่วนของ HANA เพิ่งจะสิ้นสุดโครงการซื้อหุ้นคืนสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 22 เม.ย.หลังจากประกาศซื้อหุ้นสูงสุดตามโครงการ 83,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 9.99 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ด้วยวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1,600,000,000 บาท โดยเริ่มมาตั้งแต่ 22 ต.ค.51

ปรากฎว่าเมื่อครบกำหนดวันสุดท้ายของโครงการสามารถซื้อหุ้นคืนได้ทั้งสิ้น จำนวน 25,596,100 หุ้น คิดเป็น 3.08% ของทุนชำระแล้ว มูลค่ารวม 262,987,260 บาท ส่วนเหลือที่เงินจากโครงการนี้ 1,337,012,740 บาท จะเก็บไว้เป็นทุนสำรองในการดำเนินการเช่นเดียวกับบริษัทอื่นๆ

*KEST-SAMART ใกล้ครบกำหนดโครงการซื้อหุ้นคืนในสิ้นเดือนนี้

นอกจาก 3 บริษัทจดทะเบียนข้างต้นที่ครบกำหนดเวลาการซื้อหุ้นคืนไปแล้วนั้น ภายในเดือนเมษายนนี้จะมีอีก 2 บริษัทที่จะครบกำหนดโครงการซื้อหุ้นคืน นั่นคือ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)หรือ KEST และ บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)

ในส่วนของ KEST ประกาศซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 56,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 5 บาท วงเงินสูงสุดที่จะใช้ไม่เกิน 672 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 24 ต.ค.51-24 เม.ย.52 แต่บริษัทได้ซื้อหุ้นคืนครั้งล่าสุดในวันที่ 5 มี.ค.52 เมื่อรวมระยะเวลาการซื้อคืนพบว่าบริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนไปได้ 2,205,200 หุ้นคิดเป็น 0.3892% ของทุนชำระแล้ว มูลค่ารวม 15,094,030 บาท

ขณะที่ SAMART ที่จะครบกำหนดวันสุดท้ายของการซื้อหุ้นคืนในวันที่ 30 เม.ย.52 แต่จนถึงวันที่ 30 มี.ค.52 บริษัทแจ้งว่านับจากวันเริ่มโครงการ 31 ต.ค.51 บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนตามโครงการ 38,165,800 หุ้น คิดเป็น 3.91% ของทุนชำระแล้ว มูลค่ารวม 209,669,950.80 บาท จากจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนไม่เกิน 48,825,195 หุ้น คิดเป็น 5% ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ด้วยวงเงินสูงสุดที่จะใช้ในการซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 250 ล้านบาท

นอกจากบริษัทจดทะเบียนทั้ง 5 แห่งแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทที่กำลังดำเนินโครงการซื้อหุ้นเช่นกัน อาทิ บมจ. กระเบื้องหลังคาตราเพชร (DRT) บมจ. ซี.ไอ.กรุ๊ป (CIG) บมจ. แปซิฟิกไพพ์ (PAP) บมจ. เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้นคืนในเดือน พ.ค.52, ส่วน บมจ. เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) บมจ. เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) จะครบกำหนดระยะเวลาในเดือน มิ.ย.52

ขณะที่ บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) และ บมจ.ทรัพย์ศรีไทยคลังสินค้า (SST) จะสิ้นสุดการซื้อหุ้นคืนในเดือน ส.ค. และต.ค.52 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะซื้อคืนได้เพียงเล็กน้อยจากจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีบางบริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ครบตามจำนวนที่ประกาศไว้ คือ บมจ.ศุภาลัย(SPALI)โดยบริษัทกำหนดระยะเวลาการซื้อหุ้นคืนระหว่างวันที่ 18 ก.ย.51-17 มี.ค.52 ปรากฎว่าเพียงแค่วันที่ 20 ก.พ.52 บริษัทสามารถซื้อหุ้นคืนได้ครบจำนวนหุ้นที่จะซื้อคืนสูงสุด 120,000,000 หุ้น คิดเป็น 7.27% ของทุนชำระแล้ว มูลค่ารวม 258.50 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ