ทริสคงอันดับเครดิตองค์กร BECL ที่ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ “A-"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 29, 2009 13:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) ที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยอันดับเครดิตสะท้อนปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ รวมทั้งกระแสเงินสดที่แน่นอน ประโยชน์จากการเป็นทางด่วนเพียงระบบเดียวที่เชื่อมต่อกับระบบทางด่วนขั้นที่ 1 หรือทางพิเศษเฉลิมมหานคร และการมีคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ นอกจากนี้ การจัดอันดับเครดิตยังคำนึงถึงโครงสร้างหนี้ในปัจจุบันของบริษัทซึ่งมีการกำหนดเวลาชำระหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของบริษัทตลอดอายุของตราสารด้วย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากจำนวนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐด้านระบบการขนส่งในอนาคต และการแทรกแซงของรัฐในการปรับอัตราค่าผ่านทางด่วน

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษามาตรฐานในการให้บริการและดูแลรักษาพื้นผิวการจราจรบนทางด่วนให้อยู่ในสภาพดีเพื่อรักษาปริมาณการจราจรให้อยู่ในระดับที่สูงต่อไป

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัททางด่วนกรุงเทพเป็นผู้ก่อสร้างและบริหารโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 หรือโครงการทางพิเศษศรีรัชและส่วนต่อขยายต่างๆ โดยได้รับสัมปทานในระบบ Build-Transfer-Operate (BTO) ระยะเวลา 30 ปีจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทางพิเศษศรีรัชเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 38.5 กิโลเมตร และแบ่งออกเป็น 4 ส่วนซึ่งเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครที่ก่อสร้างและบริหารโครงการโดย กทพ. โครงการดังกล่าวก่อให้เกิดเส้นทางเชื่อมต่อจากศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ไปยังทิศเหนือ ตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโครงข่ายถนนที่ครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชนเมื่อการจราจรบนถนนปกติในใจกลางกรุงเทพฯ และชานเมืองมีปัญหาติดขัด นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งบริษัทย่อยคือ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) เพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) หรือทางด่วนส่วน C+ ซึ่งมีระยะทางรวม 32 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบ BTO ระยะเวลา 30 ปีจาก กทพ. ปัจจุบันบริษัทถือหุ้นใน NECL ในสัดส่วน 53.33% ของทุนจดทะเบียนของ NECL

ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อผลประกอบการของบริษัท ได้แก่ ปริมาณการจราจรบนทางด่วน อัตราค่าผ่านทาง และต้นทุนในการดำเนินงาน ถึงแม้ว่าปริมาณการจราจรบนทางด่วนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แต่ในปี 2551 ก็เริ่มปรับตัวลดลงจากผลกระทบของการเปิดใช้ถนนวงแหวนใต้โดยไม่เก็บค่าผ่านทาง ตลอดจนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2551 การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางด่วน ซึ่งหลังจากมีการปรับเพิ่มอัตราค่าผ่านทางด่วนแล้ว ปริมาณการจราจรก็ปรับตัวลดลงในช่วงแรกและเริ่มฟื้นตัวในเวลาต่อมา ในปี 2551 ปริมาณรถยนต์บนทางด่วนโดยเฉลี่ยลดลง 6.09% โดยอยู่ที่ 924,701 คันต่อวัน จาก 984,616 คันต่อวันในปี 2550

อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าผ่านทางลดลงเพียง 4.03% เนื่องจากมีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางด่วนด่วนขั้นที่ 1 และ 2 ในเดือนกันยายน 2551 และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ดในเดือนพฤศจิกายน 2551 เป็นสำคัญ สำหรับในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 รายได้ค่าผ่านทางโดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 20.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 19.14 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งๆ ที่ปริมาณรถยนต์รบนทางด่วนลดลง 14,578 คันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าในระยะปานกลางปริมาณจราจรบนทางด่วนจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในเขตปริมณฑล และการจราจรที่ติดขัดบนถนนปกติ ทั้งนี้ คาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่สม่ำเสมอ การปรับอัตราค่าผ่านทาง และความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมต้นทุนการดำเนินงาน

บริษัททางด่วนกรุงเทพรายงานรายได้ค่าผ่านทางในช่วงปี 2551 ที่ 6,956 ล้านบาท ซึ่งลดลง 282 ล้านบาท หรือ 3.90% จากปีก่อน อัตรากำไรจากการดำเนิงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคา) ลดลงมาอยู่ที่ 83.81% เทียบกับ 86.32% ในปี 2551 ถึงแม้ว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะปรับลดลงจากการลดลงของปริมาณจราจรบนทางด่วน แต่โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทก็ปรับตัวดีขึ้นซึ่งเป็นผลจากการทยอยชำระคืนเงินกู้และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ณ เดือนธันวาคม 2551 ภาระหนี้ของบริษัทอยู่ที่ 25,575 ล้านบาท ลดลง 1,025 ล้านบาท จาก 26,600 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 ดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 1,359 ล้านบาทในปี 2550 มาอยู่ที่ 1,265 ล้านบาทในปี 2551 ซึ่งเป็นผลจากการทยอยชำระคืนเงินกู้และการลดลงของต้นทุนทางการเงินจากการออกหุ้นกู้ไม่มีประกันจำนวน 11,500 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2550 และเดือนพฤศจิกายน 2551 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนและอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 62.39% และ 3.98 เท่าในปี 2550 มาอยู่ที่ 61.33% และ 4.53 เท่าในปี 2551

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ว่าภาระหนี้ของบริษัททางด่วนกรุงเทพจะอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แต่สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งจากการมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างแน่นอนจากปริมาณการจราจรบนทางด่วนที่คงตัว การมีภาระทางการเงินที่คาดการณ์ได้ และการสนับสนุนที่ดีจากสถาบันการเงินหลายแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ