บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC) ชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 1/52 ว่า เครือซิเมนต์ไทย(SCG) มีกำไรสุทธิ 5,188 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับผลขาดทุนในไตรมาส 4/51 แต่ลดลง 27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลการดำเนินงานของธุรกิจเคมีภัณฑ์ดีขึ้นมาก ขณะที่ธุรกิจกระดาษยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ยอดขายสุทธิของ SCG เท่ากับ 55,211 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายผลิตภัณฑ์ของธุรกิจเคมีภัณฑ์และธุรกิจกระดาษปรับตัวลดลง โดย SCG มี EBITDA เท่ากับ 11,685 ล้านบาท ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณขายที่ลดลงของธุรกิจกระดาษและธุรกิจจัดจำหน่าย
เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ธุรกิจเคมีภัณฑ์มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากที่สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่และจากการเร่งผลักดันการขายในตลาดโลก ประกอบกับไม่มีขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงเหลือ (Stock Loss) ซึ่งในไตรมาสที่ 4/51 SCG มีขาดทุนจากมูลค่าสินค้าคงเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท โดย EBITDA ของ SCG ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น 511% จากไตรมาสก่อน ในขณะที่ยอดขายสุทธิใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน
ในไตรมาสนี้ SCG มีส่วนได้เสียในกำไรของบริษัทร่วม (Equity Income) เท่ากับ 1,171 ล้านบาท ลดลง 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทร่วมในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ลดลง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 1/52 จะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากความต้องการของสินค้าเคมีภัณฑ์สูงขึ้น ภายหลังจากที่ไตรมาสก่อนหน้านี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่เร่งระบายสินค้าคงเหลือ แต่สภาวะตลาดสินค้าเคมีภัณฑ์โดยรวมยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องความต้องการสินค้าของผู้บริโภคอยู่มาก ประกอบกับ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่วัฏจักรขาลงในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะกระทบต่อผลการดำเนินงานของ SCG ในช่วงที่เหลือของปีได้
สถานะการเงินของ SCG ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/52 มีเงินสดในมือเท่ากับ 36,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนที่มีเงินสดในมือ 26,714 ล้านบาท และสามารถลดสินค้าคงเหลือลงได้อีก 1,764 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน ทำให้มีมูลค่าสินค้าคงเหลือเท่ากับ 28,343 ล้านบาท (ในไตรมาส 4/51 สามารถลดสินค้าคงเหลือลง 14,164 ล้านบาท จากไตรมาส 3/51) และมีหนี้สินสุทธิ เท่ากับ 116,056 ล้านบาท ลดลง 4,465 ล้านบาท จากสิ้นปี 2551
สำหรับข้อมูลสรุปของกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเคมีภัณฑ์ (SCG Chemicals)มียอดขายสุทธิ 21,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 2,478 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อนที่มีผลขาดทุน 4,359 ล้านบาท แต่ลดลง 1,396 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ดีขึ้นจากปลายปีก่อน แต่ยัวต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 51
ธุรกิจกระดาษ (SCG Paper)เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/51 แต่ยังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว โดยปริมาณขายของกระดาษบรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มมีการสั่งซื้อมากขึ้น แต่ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุจากปริมาณความต้องการที่ลดลงของธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและธุรกิจอาหาร
ยอดขายสุทธิ เท่ากับ 9,691 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจฯ มี EBITDA เท่ากับ 1,509 ล้านบาท ลดลง 25% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากยอดขายที่ลดลง แต่เพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นของทุกผลิตภัณฑ์ ธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาสนี้เท่ากับ 239 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสก่อนมีผลขาดทุน แต่ลดลง 68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านธุรกิจซิเมนต์ (SCG Cement)สามารถประหยัดต้นทุนได้จากการประหยัดต้นทุนพลังงานจากโครงการ Waste-Heat Power Generation โดยในไตรมาส 1/52 ปริมาณความต้องการปูนซีเมนต์เทาภายในประเทศโดยรวมลดลง 10% มาที่ 6.3 ล้านตัน เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่เพิ่มขึ้น 18% จากไตรมาสก่อน ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์เทาในไตรมาสนี้ เท่ากับ 1.8 ล้านตัน ลดลง 0.2 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและใกล้เคียงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ยอดขายสุทธิของธุรกิจซิเมนต์ เท่ากับ 12,373 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณขายในประเทศและปริมาณการส่งออกลดลง แต่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยธุรกิจฯ มี EBITDA เท่ากับ 3,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 46% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากต้นทุนลดลง กำไรสุทธิของธุรกิจฯ นี้เท่ากับ 1,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 71% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง (SCG Building Materials)มียอดขายสุทธิของ 6,840 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสก่อน จากปริมาณความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล และเพิ่มขึ้น 10% EBITDA ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรสุทธิเท่ากับ 345 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสก่อนมีผลขาดทุน โดยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ธุรกิจจัดจำหน่าย (SCG Distribution)ผลการดำเนินงานของธุรกิจจัดจำหน่ายใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายสุทธิ 21,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากปริมาณและราคาของการส่งออกลดลง กำไรสุทธิเท่ากับ 320 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสก่อนมีผลขาดทุน แต่กำไรสุทธิลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รายจ่ายลงทุน (CAPEX) และเงินลงทุนของ SCG ในไตรมาส 1/52 มีมูลค่าการลงทุนเท่ากับ 9,550 ล้านบาท โดยรวมทั้งปี 52 SCG คาดว่าจะมีรายจ่ายลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายจ่ายลงทุนของโครงการ Naphtha Cracker แห่งที่ 2 ของธุรกิจเคมีภัณฑ์ โครงการ Waste-Heat Power Generation ของธุรกิจซิเมนต์ โครงการโรงงานกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่เวียดนามของธุรกิจกระดาษ และโครงการลงทุนอื่นๆ