อันดับเครดิตสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจของบริษัทในธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง (Dry Bulk Shipping) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยาวนาน รวมถึงกลยุทธ์การจัดการกองเรือที่มีความหลากหลายและสมดุล TTA มีกลยุทธ์ในระยะยาวที่จะรักษาสัดส่วนของระวางบรรทุกสินค้าที่อยู่ภายใต้สัญญาเช่าเหมาลำแบบเป็นระยะเวลา (Time Charters) ที่ประมาณร้อยละ 30 ของระวางบรรทุกสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากความผันผวนของความต้องการขนส่งสินค้าแห้งเทกองและอัตราค่าระวางเรือ รวมทั้งช่วยสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้บางส่วนให้กับบริษัท
อันดับเครดิตยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกระจายความเสี่ยงของบริษัทไปยังธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง (Offshore Service Business) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการผลิตในธุรกิจน้ำมันและพลังงานมากกว่าธุรกิจเดินเรือ นอกจากนี้อันดับเครดิตยังได้คำนึงถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัท อันเป็นผลมาจากอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำและการบริหารกระแสเงินสดที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตได้ถูกลดทอนโดยวัฏจักรของธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองที่มีความผันผวนสูง นอกจากนี้ธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกองกำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลงอย่างน้อยในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ดังเห็นได้จากการลดลงอย่างรุนแรงของอัตราค่าระวางเรือในช่วงปลายปี 2551
ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงจากปริมาณเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองที่มีมากกว่าความต้องการขนส่งสินค้าในช่วงปี 2552-2553 ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การกระจายความเสี่ยงของ TTA ไปยังธุรกิจบริการนอกชายฝั่ง ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกน้อยกว่า น่าจะมีส่วนช่วยลดทอนผลกระทบจากวัฏจักรขาลงของธุรกิจเดินเรือที่มีต่อบริษัทได้
เนื่องจาก TTA ได้รับประโยชน์ในช่วงวัฏจักรขาขึ้นของธุรกิจเดินเรือในช่วงปีงบการเงิน (สิ้นสุดเดือนกันยายน) 2547 — 2551 ซึ่งทำให้บริษัทสร้างผลกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้มาก อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่าตั้งแต่ปีงบการเงิน 2547 เป็นต้นมา
ในปีงบการเงิน 2551 อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและคงอยู่ในระดับสูงตลอดปีก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในไตรมาสถัดมา ผลประกอบการของ TTA ในปีงบการเงินดังกล่าวอยู่ในระดับที่ดีมาก โดยยอดขายและกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) เพิ่มสูงขึ้นถึงสามเท่าจากปีงบการเงินก่อน ส่งผลให้บริษัทมีเงินสดคงเหลือ ณ สิ้นปีงบการเงิน 2551 เป็นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งในการเผชิญกับวัฏจักรขาลงของธุรกิจเดินเรือและผลกระทบจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกแล้ว ยังทำให้บริษัทมีความพร้อมสำหรับโอกาสในการจัดซื้อเรือเพิ่มเติมเมื่อราคาเรือในตลาดอ่อนตัวลง
แม้ว่าบริษัทจะมีผลประกอบการที่อ่อนแอลงในไตรมาสแรกของปีงบการเงิน 2552 โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ลดลงถึงร้อยละ 64 จากไตรมาสเดียวกันของปีงบการเงินก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงอย่างรุนแรงของอัตราค่าระวางเรือ TTA ยังคงมีฐานะเงินสดสุทธิ (หลังจากหักหนี้สิน) เป็นจำนวน 5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว (เป็นการปรับปรุงโดยรวมหนี้สินจากการเช่าระยะยาว ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณตามมาตรฐานของ Fitch) ต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt/EBITDAR) ที่ระดับ 1.1 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ที่ระดับลบ 0.5 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการณ์ของ Fitch ว่า TTA จะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่มั่นคงของบริษัทในธุรกิจเดินเรือประเภทสินค้าแห้งเทกอง กลยุทธ์การจัดการกองเรือที่มีความหลากหลายและสมดุล อัตราส่วนหนี้สินในระดับปานกลาง และสภาพคล่องที่เพียงพอตลอดวัฏจักรของธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดได้หากอัตราค่าระวางเรือและสภาวะโดยทั่วไปของธุรกิจเดินเรือไม่ฟื้นตัวภายในปี 2554 นอกจากนี้การเพิ่มสูงขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินโดยพิจารณาจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ในระดับที่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (พิจารณาโดยใช้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ไม่ปรับปรุงเนื่องจากหนี้สินที่ปรับปรุงค่าเช่าระยะยาวอาจเป็นการแสดงระดับหนี้สินที่สูงเกินความเป็นจริง เนื่องจากการทำสัญญาเช่าระยะยาวของ TTA มีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูงและขึ้นกับอัตราค่าเช่าตามตลาด) และ/หรือการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ที่มีหลักประกัน อาจมีผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคงตลอดวัฏจักรของธุรกิจและการรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับต่ำได้ในระยะยาวอาจมีผลต่อการปรับเพิ่มอันดับเครดิต