นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการสรุปค่าก่อสร้าง 3 โครงการในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ-น้ำงึม 3 และ โครงการโรงไฟฟ้าเซเปียนเซน้ำน้อย เพื่อเตรียมสรุปข้อตกลงเกี่ยวกับราคาซื้อขายไฟฟ้า(Tariff MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อไป โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปได้ราวเดือนกรกฎาคม 2552
นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซียที่กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/52 เป็นที่น่าพอใจ โดยมีกำไรสุทธิ 1,843.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 139.43 ล้านบาท หรือ 8.18%
บริษัทมีรายได้รวม 7,948.48 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายไฟฟ้า 7,688.39 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ 88.50 ล้านบาท รายได้ค่าบริการและรายได้อื่นๆ รวม 45.56 ล้านบาท นอกจากนั้นบริษัทฯ รับรู้ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้ารวม 126.03 ล้านบาท
ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายรวม 5,571.71 ล้านบาท มาจาก ต้นทุนขาย 5,403.38 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารและอื่นๆ รวม 168.33 ล้านบาท และภาษีเงินได้ 273.49 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากไตรมาสแรกปี 51 จำนวน 246.75 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.23 เท่า เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนชุดที่ 1 และ 2 ของโรงไฟฟ้าราชบุรี ได้ครบกำหนดการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 51
อย่างไรก็ตามบริษัทได้มีการจ่ายคืนเงินต้นทุกไตรมาส จึงทำให้ในไตรมาสนี้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 260 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.74 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2551
สำหรับสาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้นนั้นปัจจัยหลักมาจากการรับรู้รายได้ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ของโรงไฟฟ้าราชบุรี 3,562.08 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 23.99%
ประกอบกับ โรงไฟฟ้าราชบุรีมีการหยุดเดินเครื่องตามคำสั่งของศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าแห่งชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (Reserve Shutdown) ทำให้ปริมาณการใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่างวดเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การรับรู้รายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า(Energy Payment)และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 49.12% และ 49.50% ตามลำดับ
นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรในกิจการร่วมค้า 126.03 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 51 จำนวน 324.14 ล้านบาท หรือ 72% เป็นผลมาจากผลประกอบการของ บจ.ไตรเอนเนอจี้ ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 326.09 ล้านบาท (ตามสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 50) จากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ การขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 163.10 ล้านบาท และการหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้เพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Overhaul) ซึ่งมีผลให้กำไรลดลง 162.99 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ มีกำไรลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 4.69 ล้านบาท (ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25%) เนื่องจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น 218.89 ล้านบาท หากไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทฯ จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากราชบุรีเพาเวอร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 214.20 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาสที่ 1/52 โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ทั้ง 2 ชุดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว