ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กแรงซื้อหุ้นแบงค์ หนุนดาวโจนส์ปิดพุ่ง 101.63 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 7, 2009 06:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (6 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังจากมีรายงานว่างบดุลของธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสหรัฐยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่ง โดยภาวะการซื้อขายในหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นไปอย่างคึกคักก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยผลทดสอบความสามารถในการรักษาฐานะทางการเงิน (stress test) ของ 19 ธนาคารยักษ์ใหญ่ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค.นี้

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดพุ่ง 101.63 จุด หรือ 1.21% แตะที่ 8,512.28 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดบวก 15.73 จุด หรือ 1.74% แตะที่ 919.53 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดบวก 4.98 จุด หรือ 0.28% แตะที่ 1,759.10 จุด

ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.87 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นบวกมากกว่าหุ้นลบในอัตราส่วน 7 ต่อ 3 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 3.01 พันล้านหุ้น

ฟิลิป ดาวน์ นักวิเคราะห์จาก RBC Wealth Management กล่าวว่า นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารอย่างคึกคักหลังจากมีรายงานข่าวเล็ดรอดออกมาก่อนที่ทางการสหรัฐจะเปิดเผยผล stress test อย่างเป็นทางการว่า ภาวะขาดแคลนเงินทุนของซิตี้กรุ๊ปไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากซิตี้กรุ๊ปวางแผนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญในเร็วๆนี้ ขณะที่เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค, อเมริกัน เอ็กซ์เพรส และแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป ยังไม่จำเป็นต้องระดมทุนเพิ่ม

ข่าวในด้านบวกครั้งนี้สามารถลดผลกระทบของข่าวที่ว่า แบงค์ ออฟ อเมริกา มีความจำเป็นต้องระดมทุนมากที่สุดในบรรดาธนาคารทั้ง 19 แห่ง

แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลทดสอบ stress test ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค.นี้แล้ว ธนาคารหลายแห่งในสหรัฐต้องเตรียมร่างกลยุทธ์การเพิ่มทุน โดยธนาคารที่ถูกระบุว่าต้องเพิ่มทุนจะสามารถระดมทุนผ่านทางการแปลงหุ้นบุริมสิทธิ์เป็นหุ้นสามัญ ส่วนธนาคารที่ไม่ต้องการรับเงินอัดฉีดจากรัฐบาลสหรัฐจะต้องแสดงให้เห็นว่า ธนาคารสามารถออกตราสารหนี้ให้กับนักลงทุนทั่วไปโดยไม่ต้องให้บรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (Federal Deposit Insurance Corp:FDIC) รับประกันตราสารหนี้ นอกจากนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐจะเปิดเผยเงื่อนไขการชำระเงินคืนให้กับโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) ให้ธนาคารต่างๆทราบในวันพฤหัสบดีนี้เช่นกัน

เคนเนธ โรกอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ภาควิชาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เป็นเรื่องยากที่จะประเมินสถานะการเงินที่แท้จริงของสถาบันการเงินเหล่านี้ได้ รัฐบาลสหรัฐพยายามใช้ 'นโยบายเชิงจิตวิทยา' เพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน พวกเขาต้องการให้ประชาชนไม่วิตกกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอยและสถานะทางการเงินของธนาคารภายในประเทศมากเกินไป ซึ่งความพยายามดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสกัดกั้นการเทขายในตลาดหุ้น"

นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวังการซื้อขายก่อนที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยอัตราว่างงานในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าอัตราว่างงานจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 8.9% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี และคาดว่าตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non farm payroll) จะร่วงลงอย่างน้อย 600,000 ตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นการร่วงลงติดต่อกันยาวนานถึง 5 เดือน และสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานในสหรัฐยังคงถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ADP Employer Services เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนร่วงลง 491,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.เมื่อเทียบกับการลดลง 708,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าตัวเลขการจ้างงานในภาคเอกชนจะลดลง 650,000 ตำแหน่งในเดือนเม.ย.

ทั้งนี้ หุ้นอเมริกัน เอ็กซ์เพรส ปิดพุ่ง 2.2% หุ้นเจพีมอร์แกน ปิดบวก 6.9% หุ้นแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ปิดพุ่ง 11.1% หุ้นซิตี้กรุ๊ปปิดบวก 16.65% หุ้นแบงค์ ออฟ อเมริกา ปิดพุ่ง 17.1% หุ้นเวลส์ ฟาร์โก ปิดบวก 15.6% และหุ้นเรเจียนส์ ไฟแนนเชียล ปิดบวก 6.2%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ