นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) เปิดเผยว่า ธนาคารได้บรรลุข้อตกลงขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของธนาคาร และของบริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด (PAMC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย มูลค่ารวม 19,800 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.)
แยกเป็นยอดเงินต้นคงค้างของสินเชื่อรายใหญ่ประมาณ 6,000 ล้านบาท สินเชื่อขนาดกลางและขนาดย่อมประมาณ 6,500 ล้านบาท สินเชื่อรายย่อยประมาณ 2,000 ล้านบาท และ NPAs ที่มีราคาประเมินรวมประมาณ 5,300 ล้านบาท
โดย NPLs ที่จะขายทั้งหมดอยู่ภายใต้การบริหารของธนาคาร จำนวน 3,730 ราย ส่วน NPAs เป็นทรัพย์สินของธนาคารจำนวน 750 รายการ และ PAMC จำนวน 477 รายการ การขาย NPLs ของธนาคาร ครั้งนี้ จะส่งผลให้ยอด NPLs ของธนาคาร ลดลงจาก 16% ในไตรมาส 1/52 เหลือ 13.2% แต่ธนาคารมีเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนของ NPLs ให้เป็นตัวเลขหลักเดียวในอนาคต ส่วนการขาย NPAs ครั้งนี้ จะทำให้ยอด NPAs ลดลงจาก 2.8% ในไตรมาส 1/52 เหลือ 2.1%
"การขายทรัพย์สินครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดำเนินงานของธนาคารในการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์โดยการแก้ไขปัญหา NPLs ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อและป้องกันการเกิด NPLs ในอนาคต ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้และสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากขึ้น" นายบุญทักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการขาย NPLs และ NPAs ครั้งนี้ ธนาคารได้แต่งตั้งบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัท แอลเอส ฮอไรซัน จำกัด เป็นที่ปรึกษากฎหมายสำหรับการดำเนินงานในโครงการนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อม ทั้งกระบวนการขายและขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกรายการลูกหนี้หรือทรัพย์สิน การคัดเลือกกลุ่มนักลงทุนเพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูล การจัดเตรียมข้อมูลเอกสาร ตลอดจนการกำหนดขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการขาย
ด้านนายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บสก. กล่าวว่า ภายหลังที่ บสก. รับซื้อรับโอน NPLs และ NPAs ของ TMB เข้ามาบริหารจัดการแล้ว ในขั้นตอนต่อไป บสก.จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก และมุ่งเน้นวิธีการเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี บสก. ก็เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลับมาเจรจาประนอมหนี้ได้ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยลูกหนี้ให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และส่งกลับคืนระบบเศรษฐกิจตามปกติต่อไป
ขณะที่ NPAs เมื่อได้รับโอนมาเป็นกรรมสิทธิ์แล้ว บสก.จะเร่งดำเนินการในเรื่องการจัดทำรายการและทะเบียนควบคุมทรัพย์สินรอการขาย พร้อมทั้งออกสำรวจ ตรวจสอบสภาพทรัพย์ และติดป้ายประกาศ รวมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาทรัพย์ที่มีศักยภาพให้เป็นบ้านพร้อมอยู่ ที่ดินพร้อมใช้ เพื่อให้เป็นทรัพย์มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด
ปัจจุบัน บสก. มี NPL จำนวน 225,042 ล้านบาท หรือคิดเป็น 97.65% เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มีอยู่จำนวน 230,451 ล้านบาท และมี NPA ที่อยู่ในความดูแลจำนวน 37,150 ล้านบาท หรือคิดเป็น 25.17% เมื่อเทียบกับสถาบันการเงินที่มีอยู่จำนวน 147,572 ล้านบาท โดยในปีนี้ บสก. มีเป้าหมายที่จะรับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจัดการอีก 50,000 ล้านบาท