ทริสเรทติ้งทบทวนอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ KTC

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2009 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของ บมจ. บัตรกรุงไทย จำกัด (KTC) ที่ระดับ “BBB+" นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก “เครดิตพินิจ" แนวโน้ม “Developing" หรือ “ไม่ชัดเจน" และกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ให้แก่อันดับเครดิตของบริษัทหลังจากที่ทริสเรทติ้งได้เข้าพบและหารือกับผู้บริหารของบริษัทบัตรกรุงไทยและธนาคารกรุงไทย (KTB) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเกี่ยวกับแผนการหาแหล่งเงินทุนของบริษัท

ทั้งนี้ แม้สัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารกรุงไทยในบริษัทจะคงที่อยู่ที่ระดับ 49.45% เนื่องจากผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่อนุมัติแผนการเพิ่มทุน แต่ทริสเรทติ้งก็เชื่อว่าบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารกรุงไทยต่อไป

อันดับเครดิตสะท้อนความสามารถของคณะผู้บริหาร ตลอดจนระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้บริษัทบัตรกรุงไทยสามารถดำรงสถานภาพผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิต ในการให้อันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากผู้ถือหุ้นใหญ่คือธนาคารกรุงไทยที่ถือหุ้นในสัดส่วน 49.45% ณ วันที่ 2 เมษายน 2552 อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งเหล่านี้ถูกลดทอนลงบางส่วนจากสภาพการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนปัจจัยทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย และความเสี่ยงด้านกฎเกณฑ์ของทางการซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายตัวของสินเชื่อ คุณภาพสินทรัพย์ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทบัตรกรุงไทยยังคงได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินอย่างเต็มที่จากธนาคารกรุงไทยต่อไป นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของบริษัทในการเข้าไประดมทุนในตลาดทุน รวมถึงการที่บริษัทยังคงมีแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม หากบริษัทไม่สามารถต่ออายุสัญญาตั๋วแลกเงินโดยไม่มีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงแหล่งอื่นรองรับอย่างเพียงพอ หรือผลประกอบการของบริษัทถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของบริษัทได้ ซึ่งทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าของวงเงินที่เหลือของบริษัทอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้วงเงินที่เหลือในปัจจุบันจะยังเพียงพอต่อการต่ออายุของตั๋วแลกเงินคงค้าง ณ ปัจจุบันก็ตาม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า เนื่องจากภาวะวิกฤตทางการเงินของโลกที่ทำให้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้หลีกเลี่ยงความเสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทบัตรกรุงไทยต่ออายุตั๋วแลกเงินได้ยากลำบาก บริษัทจึงหันมาพึ่งแหล่งเงินทุนจากธนาคารกรุงไทยมากขึ้น ในเดือนมีนาคม 2552 ธนาคารกรุงไทยได้ขยายวงเงินกู้ให้แก่บริษัทอีก 5,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินรวมที่บริษัทได้รับจากธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านบาท บริษัทมีวงเงินเหลือจากธนาคารกรุงไทย ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2552 อยู่ 3,200 ล้านบาท และจากสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 2,960 ล้านบาทเพื่อใช้บริหารสภาพคล่องในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนทางการเงินดังกล่าวจากธนาคารกรุงไทยถูกจำกัดโดยประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการกำกับดูแลสถาบันการเงินแบบรวมกลุ่ม และการจัดสรรวงเงินให้แก่บริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารกรุงไทยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคารเป็นสำคัญ

บริษัทบัตรกรุงไทยยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจบัตรเครดิตได้อย่างต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของจำนวนบัตรที่ 12.7% ณ เดือนธันวาคม 2551 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 12.3% ณ เดือนธันวาคม 2550 อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยทางธุรกิจล้วนมีผลจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท โดยปัจจัยดังกล่าว ได้แก่ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนในการหาแหล่งเงินทุนอันเป็นผลให้ผู้บริหารของบริษัทต้องบริหารสถานะทางเงินด้วยความระมัดระวัง ดังนั้น ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทจึงมีโอกาสที่จะไม่เติบโตหรือลดลงได้ นอกจากนี้ การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดีจึงเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญสำหรับบริษัทในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อจะลดระดับการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ ผู้บริหารของบริษัทจึงได้ดำเนินมาตรการป้องกันหลายประการในปี 2551 ได้แก่ การใช้เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อและนโยบายการจัดเก็บหนี้ที่เข็มงวดขึ้น และมีแผนในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรในกลุ่มลูกค้าระดับบนมากขึ้น

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 บริษัทมียอดรวมสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จาก 44,922 ล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2550 โดยยอดสินเชื่อคงค้างดังกล่าวประกอบด้วยสินเชื่อจากบัตรเครดิต 71% สินเชื่อส่วนบุคคล 26% สินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย 2% และสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิตอีก 1% แม้ว่าบริษัทจะประกาศกำไรสุทธิสำหรับงวดปี 2551 จำนวน 520 ล้านบาท หรือแทบไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2550 แต่ก็เป็นระดับที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเป็น 3,288 ล้านบาทในปี 2551 จาก 2,539 ล้านบาทในปี 2550 อัตราส่วนในการทำกำไรจึงค่อนข้างจะทรงตัว โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.1% และ 8.6% ตามลำดับ ในปี 2551 เทียบกับระดับ 1.2% และ 9.0% ในปี 2550

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า อัตราสินเชื่อค้างชำระของบริษัทบัตรกรุงไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 อัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ของบริษัทมีสัดส่วน 4.2% ซึ่งลดลงจาก 4.3% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 แต่อัตราส่วนหนี้สูญตัดบัญชีสุทธิกลับเพิ่มขึ้นจาก 5.5% ในปี 2550 เป็น 6.3% ในปี 2551 อัตราส่วนการตั้งสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.51% ณ สิ้นปี 2549 เป็น 3.84% ณ สิ้นปี 2550 และ 3.81% ณ สิ้นปี 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราสินเชื่อค้างชำระที่เพิ่มขึ้นและมาตรฐานใหม่ในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์และเกณฑ์การตั้งสำรองสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มงวดขึ้น โดยตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 เกณฑ์การตั้งสำรองคำนวณจากค่าสถิติความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริงย้อนหลัง 3 ปีบวกกับค่าความเสี่ยงในอนาคตที่สะท้อนถึงภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ตั้งสำรองในอัตรา 2% ของยอดสินเชื่อที่ค้างชำระน้อยกว่า 180 วัน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ