THAI ร่างแผน 2 รุกเดินหน้า หลังแผนระยะสั้นรอดวิกฤติ คาดปี 54 กำไรแตะหมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday May 14, 2009 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI)เผยแผนระยะสั้นช่วง 3 ปี(ปี 52-54) เพื่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างมั่นคง และในช่วง 2 ปีต่อจากนั้น(ปี55-56)เตรียมแผนเฟสสองจะรุกขยายตลาดใหม่เพื่อเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้บริษัทจะกู้เงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท นำไปชำระค่าเครื่องบินแอร์บัส A330-300 จำนวน 4 ลำ จ่ายคืนหนี้ระยะสั้น และเสริมสภาพคล่องภายในบริษัท

ขณะที่ตั้งเป้ารายได้บริษัทในช่วง 3 ปีนี้ เติบโตปีละ 3-8% โดยรักษาระดับอัตราบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor)ไว้ที่ 76%ตลอด 3 ปีนี้ และกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม(EBITDA)จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 54 จากปีนี้ที่คาดว่าจะทำได้อย่างน้อย 3 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิมาถึงระดับ 1 หมื่นล้านบาท โดยการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด

นายวัลลภ พุกกะณะสุต ประธานกรรมการบริหาร THAI ซึ่งเป็นอดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า แผนเบื้องต้นบริษัทจะกู้เงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ก.ค.52 เพื่อนำชำระคืนหนี้ระยะสั้นและเสริมสภาพคล่องของบริษัท ซึ่งแผนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดใหม่ รมว.คลัง และ รมว.คมนาคม แล้วโดยจะนำแผนดังกล่าวเสนอครม.เศรษฐกิจเพื่อรับทราบในเร็วๆนี้

"ภายใน 2-3 เดือน หรือภายในเดือน ก.ค.เราจะกู้เงินก้อนแรกก่อน 2 หมื่นล้านบาท...คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ในปีนี้เราจะกู้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการกู้จากต่างประเทศ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า"นายวัลลภ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีกระแสเงินสด(cashflow)ประมาณ 7 พันล้านบาท/เดือน ซึ่งต่ำกว่าปกติที่จะต้องมีกระแสเงินสดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/เดือน

สำหรับเงินชำระค่าเครื่องบิน A330-300 จำนวน 4 ลำ ที่จะรับมอบในครึ่งปีหลัง จากที่รับมอบไปแล้ว 2 ลำในปีนี้ บริษัทเจรจากับ European Credit Garantee Department ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหภาพยุโรป เพื่อให้องค์กรดังกล่าวช่วยค้ำประกันเงินกู้ที่จะชำระค่าเครื่องบิน คาดจะรู้ผลปลาย พ.ค.หรือต้น มิ.ย. โดยบริษัทต้องจ่าย 85% ราคาเครื่องบิน รวมประมาณ กว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอีก 2 ลำที่เหลือจะรับมอบในปีหน้า ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาด้านการเงินแล้ว

นายวัลลภ กล่าวว่า แผนระยะสั้นตั้งเป้าอัตราเติบโตของรายได้ปีละ 3-8% โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1.5-1.7 แสนล้านบาท และ EBITDA อยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท หรือกรณีที่ดีที่สุดคาดว่าจะได้ 3.8 หมื่นล้านบาท ตามแผนในปี 54 คาดว่า EBITDA จะเพิ่มมาเป็นประมาณ 4-4.2 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้ารักษา Cabin Factor ที่ 76% ตลอด 3 ปีนี้

"จากผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา เราเชื่อว่าปีนี้เราจะทำกำไร 7-8 พันล้านบาท และมี EBITDA ได้ 3 หมื่นล้านบาท โดยไตรมาส 4 น่าจะเติบโตได้ดี" นายวัลลภ กล่าว

ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/52 THAI ประกาศรายได้รวม 41,270 ล้านบาท ลดลง 26.1%จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน EBITDA เท่ากับ 9,512 ล้านบาท(เพิ่มขึ้น 1.9%) แต่มีกำไรสุทธิสูงถึง 7,869 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าไตรมาส 1/51 ที่มี 2,216 ล่านบาท หรือเพิ่มขึ้น 255.1%

*เข้มงวดควบคุมลดค่าใช้จ่าย-พ.ค.ลดเที่ยวบิน

นายวัลลภ กล่าวว่า บริษัทมุ่งเน้นการควบคุมเรื่องค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ โดยปีนี้ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากการลดเที่ยวบินเพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยได้เริ่มลดเที่ยวบินในเดือน พ.ค.ลงกว่า 100 เที่ยวบินในเส้นทางที่มียอดสำรองที่นั่งต่ำกว่า 30% และจะทำต่อเนื่องไปในเดือน มิ.ย.ซึ่งยังอยู่ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว(Low Season) ซึ่งจะยาวไปถึงเดือน ส.ค.

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการทบทวนยอดสำรองที่นั่งก่อนล่วงหน้า 1 เดือน หากพบว่ามีอัตราส่วนน้อยก็จะลดเที่ยวบินเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะดำเนินการเช่นนี้ไปจนถึงสิ้นปี จนกว่าจะเข้าที่เข้าทางเมื่อใดก็จะปล่อยให้เป็นไปตามตารางบินปกติ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายทำในด้านการบินทั้งค่าอาหาร น้ำมัน และลูกเรือ

"เมื่อก่อนเราไม่ค่อยได้ดูตัวเองก่อนจะเกิดปัญหา แต่ตั้งแต่ผมเข้ารับเป็นคณะกรรมการฟื้นฟูฯเราได้ปรับตัวเอง ก่อนเดือน พ.ค.ซึ่งเป็นเดือนที่มียอดขายต่ำที่สุด...รายรับเรา control ไม่ได้ แต่ค่าใช้จ่ายเราสามารถควบคุมได้"นายวัลลภ กล่าว

นอกจากฝ่ายบริหารต้องกลับมาเข้มงวดเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ยังมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 30% ของค่าใช้จ่ายรวม

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ นายวัลลภ กล่าวว่า บริษัทมั่นใจว่าจะไม่กระทบ เพราะบริษัทมีมาตรการรับมืออยู่แล้วจากในอดีตที่มีประสบการณ์รับมือไข้หวัดนกและโรคซาร์ส เชื่อว่ายอดจองตั๋วโดยสารที่ลดลงอาจมีแฝงมาจากเรื่องนี้บ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก น่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้มีการเดินทางน้อยลง โดยเฉพาะจากจีน เกาหลี ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ คาดว่าในเดือน พ.ค. Cabin Factor จะอยู่ระดับ 60%

"เรามั่นใจว่าโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ทำให้ผู้โดยสารลดลง เรามีการรับมืออย่างเข้มงวด มีศูนย์ Emergency เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง serious แต่เท่าที่สำรวจอัตราจองก็ปรากฏว่าเริ่มต้นลดเล็กน้อย แต่จะลดเพราะไข้หวัดก็ไม่ 100% เพราะยอดจองลดอยู่แล้ว และในเดือน พ.ค.เป็นเดือนที่ต่ำที่สุดของการบินไทยอยู่แล้ว"นายวัลลภ กล่าว

อย่างไรก็ดี บริษัทได้เลื่อนการขยายเที่ยวบินกรุงเทพ-ลอสแองเจิลลีส จาก 4 วันต่อสัปดาห์เป็น 7 วันต่อสัปดาห์ ไปเป็น 1 ก.ค. จากเดิมกำหนดไว้ใน 1 มิ.ย.เพราะก็ยังมีหลายคนหวาดกลัวไข้หวัดใหญ่ที่พบการแพร่ระบาดในสหรัฐ และช่วง ก.ค.เป็นช่วงที่ทางสหรัฐปิดเทอม

ส่วนแผนเปิดเที่ยวบินใหม่ในปีนี้ยังคงแผนเดิม โดยเส้นทางบินไปเมืองออสโล ประเทศเนอร์เวย์ จะเริ่มในวันที่ 15 มิ.ย.ทำการบิน 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะนี้มียอดจองเกือบ 60% แล้ว นอกจากนี้จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในบางจุด ได้แก่ คูเวต ดูไบ

สำหรับการยกเลิกเที่ยวบิน เขาเห็นว่าควรเป็นวิธีสุดท้ายที่จะดำเนินการ เพราะการปิดเที่ยวบินใหม่ง่าย แต่การเปิดเที่ยวบินใหม่ยาก และต้องใช้งบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายมาก ที่ผ่านมาเที่ยวบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก ซึ่งได้ยกเลิกไปแล้วนั้น ก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะทำผู้โดยสารสามารถต่อเที่ยวบินไปที่อื่นได้ ให้การขยายเน็ตเวิร์กหายไป

*เริ่มวางแผนเฟสสอง หวังรุกตลาดใหม่

นายวัลลภ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทกำลังจัดทำแผนต่อเนื่องหรือเฟสสองในอีก 2 ปี(55-56) ซึ่งขณะนี้พิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่จะรุกตลาดใหม่ๆ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณต้นเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจะรวมไปถึงการลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ด้วย

"ขณะนี้เราทำแผนเพิ่มเครื่องบินใหม่ 8 ลำใน 3 ปีนี้ก่อน กำลังจะทำแผนอีก 2 ปี(ปี 55-56)ว่าเราจะไปโตที่ไหน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษากันอยู่ ศึกษาว่าตลาดไหนควรเพิ่ม ผมคิดว่าเราสามารถรักษาเน็ตเวิร์กของเราไว้ได้"ประธานกรรมการบริหาร กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวัลลภ ยอมรับว่า ฝูงบินขณะนี้ยังใช้ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยปีก่อนใช้ capacity ลดลง 15% และต่อเนื่องมาถึงปีนี้ มีการใช้เครื่องบินจริงประมาณกว่า 60 ลำ จากที่มีอยู่ 84 ลำ ซึ่งอยู่ระหว่างการซ่อม โดยล่าช้าไปจากการลดเวลาการทำงานฝ่ายช่าง

ในปีนี้จะมีเครื่องบินใหม่ 6 ลำ ปีหน้าจะรับมอบอีก 2 ลำ ส่วนเครื่องบินเก่าที่มีอายุ 20 ปีขึ้นมีอยู่ประมาณ 5 ลำ ก็กำลังดูอยู่ว่าจะปลดระวาง และได้เครืองบินใหม่ม่ทดแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ