นายธีรพล เต็มสุข กรรมการ บมจ.ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม(TIES)ผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดเล็กและอยู่ในตลาดเอ็ม เอ ไอ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"โดยยอมรับว่า ข่าวอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่เกิดขึ้นในระยะนี้ โดยเฉพาะกับโครงการที่รับผิดชอบของผู้รับเหมาฯรายเล็ก บั่นทอนความเชื่อมั่นสำหรับบรรดาเจ้าของโครงการ อาจทำให้หันไปจ้างขนาดผู้รับเหมารายใหญ่ๆ มากขึ้น ซึ่งผู้รับเหมาฯรายเล็กก็ต้องทำใจยอมรับ
แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องหันกลับมามองตัวเองว่าการทำงานของเราได้มาตรฐานหรือยัง การดูแลเอาใจใส่คนงานก่อสร้างดีหรือไม่
นายธีรพล กล่าวยืนยันว่า ในส่วนของ TIES มีมาตรฐานการทำงานระดับเดียวกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศ โดยแบ่งประเภทของอุบัติเหตุไว้เป็น 2 ประเภท 3 ระดับ คือ ประเภทแรก คือ อุบัติเหตุจากการทำงาน กับอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากการทำงาน เช่น มีรถพุ่งเข้าชนไซต์งาน เป็นต้น
ส่วนระดับของอุบัติเหตุ คือ ระดับแรก อุบัติเหตุเล็กน้อยเกิดขึ้นแล้วยังสามารถทำงานต่อได้ เช่น ตอกตะปูโดนนิ้ว เหยียบตะปู เป็นต้น ระดับที่ 2 คือ เกิดขึ้นแล้วต้องหยุดงานเป็นระยะเวลาสั้นๆ คือ ครึ่งวัน-1 วัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีก และระดับ 3 คือ อุบัติเหตุรุนแรง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ซึ่งระดับนี้ต้องมีการตรวจสอบแบบละเอียดว่าอะไรคือสาเหตุ
"อย่างกรณีที่เป็นข่าว เกิดจากนั่งร้านถล่มเพราะรับน้ำหนักปูนไม่ได้ ก็ต้องมา Recheck ว่า นั่งร้านควรจะตั้งยังไง สภาพนั่งร้านใช้ได้หรือเปล่า ใครเป็นผู้ติดตั้งงานนั่งร้าน ขึ้นอยู่กับบริษัทว่าจะมีระบบควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้อย่างไร"นายธีรพล กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายธีรพล กล่าวว่า ตลอดการทำงาน 30 ปีของเรา ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุในระดับที่ 3 มาก่อน และส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย ซึ่งเราก็มีการดูแลคนงานของเราเป็นอย่างดี อีกทั้งยืนยันว่าเราใส่ใจกับเรื่องคุณภาพ มาตรฐานในทุกขึ้นตอนการทำงาน ทั้งลงเสาเข็ม ก่อกำแพง ขึ้นชั้น แต่ถ้าสุดวิสัยจริงๆ ก็จะมีการตรวจสอบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมาจากอะไร
ส่วนอีกสาเหตุที่ว่ามีการเร่งการทำงานตลอด 24 ช.ม.นั้น ในส่วนของ TIES ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ 8 โครงการ กำหนดเสร็จในปี 52 จำนวน 6 โครงการ และที่เหลือกำหนดเสร็จปี 53 และทุกโครงการเป็นไปตามตารางการทำงาน ทำงานตารงเวลาทำงานปกติ 8.00 น.เต็มที่คือเลิก 5 ทุ่ม หยุดเสาร์-อาทิตย์ ยกเว้นงานเร่งด่วนจริงๆ แต่ก็ไม่เคยทำตลอด 24 ช.ม.
"เข้าใจว่าที่เป็นข่าวเจ้าของโครงการต้องการให้เสร็จเร็วที่สุด เพราะถ้าเสร็จเร็ว ก็สามารถเปิดห้างได้เงินคืนเร็ว แต่เมื่อเกิดเรื่องแล้วก็ต้องหาผู้รับผิดชอบ"นายธีรพล กล่าว
*ผู้รับเหมาฯมองรายเล็ก-รายใหญ่ไม่สำคัญ อยู่ที่ความใส่ใจ
ด้านนายสมชาย ศิริเลิศพานิช กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น (SYNTEC) กล่าวว่า SYNTEC มีมาตรฐานการทำงานได้รับรองคุณภาพ ISO ทุกขั้นตอนการทำงานมีวิศวกรคอยควบคุมอย่างละเอียด ขณะที่เรื่องเวลาทำงานเราก็เป็นปกติ คือ จันทร์-เสาร์ 7.00 น.เลิกไม่เกิน 21.00 น.
"ทำเกินเวลาไม่ได้ ชาวบ้านว่าเอา ส่วนเรื่อง Safety เป็นหัวใจหลักในการทำงานก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมอยู่แล้ว และมีที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างของเจ้าของโครงการ Consult ดูแลตรวจสอบทุกขั้นตอน แม้กระทั่งจะเทปูน ผูกเหล็ก วิศวกรก็ต้องอยู่แล้ว Consult อนุมัติ ทำให้ที่ผ่านมาไม่เคยมีข่าวอุบัติเหตุใหญ่ๆระหว่างการก่อสร้างเกิดขึ้นกับ SYNTEC เลย"
นายสมชาย กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน SYNTEC มีงานที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 25-26 โครงการ ทยอยส่งมอบปีนี้และปีหน้า ซึ่งยอมรับว่าบางงานล่าช้าออกไปบ้าง 5-6 วัน เพราะต้องมีการแก้ไขแบบบ้าง อะไรบ้าง แต่เรื่องงานช้าก็เป็นปกติ แต่ไม่ถึงขนาดต้องเร่งเวลาทำงานจนบั่นทอนสุขภาพร่างกายคนงาน
อย่างไรก็ตาม ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้มีความกังวลว่ามาตรฐานการทำงานของผู้ประกอบการรายเล็กอาจไม่ได้มาตรฐานนั้น นายสมชาย มองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เพราะทุกรายที่ทำธุรกิจก่อสร้างได้ต้องมีมาตรฐาน รายเล็กรายใหญ่ไม่ใช่ปัญหา อยู่ที่ความใส่ใจมากกว่าว่าขั้นตอนการดำเนินการถูกต้องหรือไม่
นายสมชาย กล่าวถึงแนวโน้มผลประกอบการปี 52 ว่า คาดว่ารายได้น่าจะเติบโตได้อย่างน้อย 5% จากประมาณ 6 พันล้านบาทในปี 51 โดยปัจจุบันมีงานในมือประมาณ 6-7 พันล้านบาท
"เรามี Backlog 6-7 พันล้านบาท เรากะว่าปีนี้โตได้ 5% ก็พอใจแล้ว"นายสมชาย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"