ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ตั้งเป้าขยายสินเชื่อในปี 52 ที่ 1.2 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีแผนลดยอดเงินฝากลง เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปีนี้ เชื่อว่าคงจะใกล้เคียงกับปี 51
ส่วนความคืบหน้าในการควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 2 แห่ง คือ บล.บีทีและบล.ซีไอเอ็มบีจีเคนั้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในราวปลายไตรมาส 3 ถึงต้นไตรมาส 4 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติจากทางการ
ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค ประธานบริหาร CIMB GROUP เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารได้ประกาศแผนธุรกิจแล้ว พร้อมเดินหน้าจะทำให้ธนาคารสร้างผลตอบแทนและมีกำไรในระดับที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากศักยภาพของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และการเป็นสมาชิกของ CIMB GROUP
โดยในปี 52 นี้ คาดว่าธนาคารจะมีกำไรจากการดำเนินงาน แต่อาจจะไม่มีกำไรสุทธิได้ในปีนี้ เนื่องจากธนาคารต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อปรับเปลี่ยนด้านต่างๆ ดังนั้นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนจึงต้องใช้เวลา
"ผลประกอบการใน Q1/52 ดีขึ้น 50% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ธนาคารยังไม่มีการทบทวนเป้าในปีนี้ โดยขอรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจ หากไม่มีผลกระทบมาก คาดว่าทั้งปีผลประกอบการของธนาคารน่าจะอยู่ระดับใกล้เคียง Q1/52 ส่วน NPL ทั้งกลุ่มยังนิ่งๆ หากเศรษฐกิจไม่กระทบน่าจะทรงตัวได้" ดาโต๊ะ ศรี นาเซียร์ ราซัค กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนที่จะเพิ่มพนักงานในส่วนของธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย เพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ทั้งพนักงานด้านสินเชื่อรายย่อย ธุรกิจบริการ หน่วยลงทุน หรือวาณิชธนกิจ โดยปัจจุบันธนาคารมีพนักงานรวมกว่า 3,000 คน ขณะที่ทั้งกลุ่ม CIMB GROUP มีพนักงาน 36,000 คน
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ในช่วงที่ธนาคารอยู่ระหว่างการเพิ่มทุนและปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทำให้การขยายธุรกิจสินเชื่อของธนาคารชะลอตัวลง และหลังการดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จในเดือน มี.ค.52 ที่ผ่านมา
จากนี้ไปธนาคารจะเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยปี 52 ธนาคารวางเป้าหมาย ขยายสินเชื่อสุทธิ 12,000 ล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อในปัจจุบันที่ 80,000 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีแผนจะลดยอดเงินฝากลงจาก 140,000 ล้านบาท เหลือ 110,000-120,000 ล้านบาทในช่วงปลายปีนี้ เพื่อลดต้นทุนของธนาคาร หลังจากธนาคารวางเป้าหมายขยายสินเชื่อปีนี้จาก 80,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท
เป้าหมายของธนาคารหลังการได้รับการสนับสนุนจาก CIMB GROUP ด้าน Back up และ IT ทำให้ธนาคารพร้อมขยายสินเชื่อ ทั้งลูกค้ารายย่อยที่ธนาคารมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว สินเชื่อ SMEs ที่มีเครือข่ายธุรกิจจากการจัดตั้งศูนย์ธุรกิจสินเชื่อรายใหญ่ ที่การเป็นกลุ่มธุรกิจ CIMB ทำให้ธนาคารสามารถขายผลิตภัณฑ์สินเชื่อได้มากขึ้น ทั้งธุรกิจต่างประเทศ Trade Finance วาณิชธนกิจ และอนาคต อีก 2 ปี ธนาคารอาจจะรุกตลาดธุรกิจบัตรเครดิตอีกด้วย
ส่วน NPL ของธนาคารอยู่ระดับ 7-8 % เป็น Net NPL 4% ธนาคารมีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ ธปท. และอยู่ระหว่างพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและผลกระทบต่อสินเชื่อ และการเกิด NPL ขณะที่ธนาคารยังไม่มีแผนการขาย NPL ในช่วงนี้
สำหรับแผนการควบรวมกิจการ ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์ CIMB GK กับ บล.ไทยธนาคาร ขณะนี้อยู่ระหว่างการขออนุมัติจากทางการ คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลาย Q3 -ต้น Q4/52 ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการเกื้อหนุนธุรกิจกัน เนื่องจาก CIMB GK มีฐานลูกค้าสถาบัน ขณะที่ บล.ไทยธนาคาร มีฐานลูกค้ารายย่อย การควบรวมกิจการจะทำให้เพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ส่วนลูกค้าของบริษัททั้ง 2 แห่ง จะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมกิจการดังกล่าว เพราะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเท่านั้น