นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงไปเจรจาต่อรองกับผู้รับเหมาเกี่ยวกับราคาค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง(บางใหญ่-บางซื่อ) สัญญาที่ 1 ซึ่งเห็นว่ายังสูงเกินไป เพราะมองว่าค่าก่อสร้างไม่น่าจะเกิน 13,600-14,000 ล้านบาท พร้อมทั้งให้ผู้รับเหมาแจกแจงรายละเอียดที่มาของค่าก่อสร้างทั้งหมดด้วย
อย่างไรก็ตาม หากการเจรจาต่อรองกับผู้รับเหมาไม่สำเร็จก็จะต้องมีคำชี้แจงต่อสังคม หรืออาจจะต้องยกเลิกผลการประกวดราคา เพื่อเปิดให้มีการยื่นซองใหม่
เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ได้อนุมัติให้กลุ่มกิจการร่วมค้าของ บมจ.ช.การช่าง(CK)เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างในวงเงินที่ได้ต่อรองล่าสุด 14,965 ล้านบาท จากราคากลางซึ่งบริษัทที่ปรึกษาประเมินไว้อยู่ที่ 11,166 ล้านบาท
รมว.คมนาคม กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ควบคุมค่าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงทั้ง 3 สัญญา ให้อยู่ในกรอบ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงคมนาคมมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการได้
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของสภาผู้แทนราษฎรได้รายงานผลการศึกษาโครงการดังกล่าวให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการที่ส่อทุจริต
นายโสภณ กล่าวว่า หลังจากนี้จะเชิญคณะกรรมการ รฟม.มารับทราบนโยบายเพื่อให้ไปเจรจาต่อรองราคากับกลุ่มซีเคทีซี จอยท์เวนเจอร์ ที่มีกลุ่ม CK เป็นแกนนำต่อไป รวมทั้งจะหารือกับคณะกรรมการ รฟม. เพื่อให้เปิดข้อเสนอด้านราคาของสัญญาที่ 2 และ3 ไปพร้อมกัน เพื่อที่จะควบคุมราคาค่าก่อสร้างทั้งโครงการให้อยู่ในกรอบวงเงิน
"กรอบวงเงินสัญญาที่ 1 อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งผมยังไม่ได้กำหนดว่าจะต้องปรับลดลงเท่าราคานี้ เพราะจะเป็นการชี้นำ แต่เห็นว่าราคาที่เหมาะสมควรเป็นราคาที่ภาครัฐได้ประโยชน์ และเอกชนสามารถดำเนินการได้ แต่หากกลุ่มผู้รับเหมายืนราคาเดิม ก็คงต้องยกเลิกการประกวดราคา"นายโสภณ กล่าว
สำหรับราคาค่าก่อสร้างโครงการนี้ค่อนข้างซับซ้อนเนื่องจากช่วงที่ประกวดราคานั้น ราคาน้ำมัน และราคาวัสดุก่อสร้างบางรายการปรับราคาสูงมาก แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันเริ่มลดลง ขณะที่ราคาวัสดุก็ปรับราคาลดลงเฉพาะบางรายการ เช่น เหล็ก ซึ่งราคาน้ำมันและวัสดุจะมีผลต่อวงเงินก่อสร้าง ดังนั้น รฟม.จะต้องจัดทำค่าใช้จ่ายต่อหน่วย ณ วันที่ยื่นซอง เพื่อเปรียบเทียบราคาค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรียังมีความเห็นตรงกันในการจัดลำดับความสำคัญโครงการเมกะโปรเจ็คต์ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างราว 37,110 ล้านบาท ซึ่งต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว เพราะจะช่วยรองรับการเดินทางบนถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งในอนาคตจะเปิดใช้ศูนย์ราชการเต็มรูปแบบ และจะมีปัญหาการจราจรติดขัด
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะต้องของบประมาณรัฐบาลเพื่อมาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 300 ล้านบาท ซึ่งต้องเจรจากับกระทรวงการคลังเพื่อที่จะนำเงินมาดำเนินโครงการต่อไป ส่วนโครงการรถไฟฟ้าที่ดำเนินการต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ และแบริ่ง-สมุทรปราการ ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป โดยรัฐจะลงทุนก่อสร้างงานโยธา