ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กข่าว S&P หั่นเครดิตอังกฤษ ฉุดดาวโจนส์ปิดร่วง 129.91 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 22, 2009 06:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 100 จุดเมื่อคืนนี้ (21 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาดแรงงานสหรัฐ หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขว่างงานประจำสัปดาห์ที่อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับแรงกดดันข่าวที่ว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับลดอันดับเครดิตของอังกฤษ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วง 129.91 จุด หรือ 1.54% แตะที่ 8,292.13 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปิดลบ 15.14 จุด หรือ 1.68% แตะที่ 888.33 จุด และดัชนี Nasdaq ปิดลบ 32.59 จุด หรือ 1.89% แตะที่ 1,695.25 จุด

ปริมาณซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 1.44 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ส่วนปริมาณการซื้อขายในตลาด Nasdaq มีอยู่ราว 2.25 พันล้านหุ้น

ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กซบเซาลงและมีแรงเทขายกระหน่ำหุ้นกลุ่มการเงิน หลังจากมีข่าวว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่ระดับ AAA ของอังกฤษ ลงสู่ "เชิงลบ" จากเดิม "มีเสถียรภาพ" เนื่องจากภาระหนี้สินของอังกฤษที่เพิ่มขึ้น โดยนายอลิสแตร์ ดาร์ลิง รัฐมนตรีคลังอังกฤษยอมรับว่า ยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลปีนี้อาจจะอยู่ที่ 1.75 แสนล้านปอนด์ (2.73 แสนล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็น 12.4% ของตัวเลขจีดีพี

การลดอันดับแนวโน้มความน่าเชื่อถือครั้งนี้ทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่ 5 ในบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ถูกลดอันดับเครดิตในปีนี้ต่อจาก ไอร์แลนด์ กรีก โปรตุเกส และสเปนซึ่งล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ โดยอังกฤษวางแผนขายพันธบัตรมูลค่าถึง 2.20 แสนล้านปอนด์ในปีงบประมาณ 2552 หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้รายได้ลดลง และยังบีบให้รัฐบาลต้องเพิ่มงบใช้จ่าย

อลัน เคร็นกา นักวิเคราะห์จาก เอ็ดเวิร์ด โจนส์ กล่าวว่า "แม้รัฐบาลทั่วโลกพยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ข่าวการปรับลดความน่าเชื่อถือของอังกฤษส่งแรงกระเพื่อมมาถึงตลาดหุ้นนิวยอร์กด้วย เพราะทำให้นักลงทุนหวั่นวิตกว่าสหรัฐเองก็อาจจะถูกลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน"

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นนิวยอร์กยังได้รับปัจจัยลบจากการที่นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คาดการณ์ว่า วิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐยังไม่สิ้นสุดลงแม้ต้นทุนการกู้ยืมลดลงก็ตาม พร้อมกับเตือนว่าธนาคารพาณิชย์สหรัฐจะต้องระทุนทุนอีกจำนวนมาก

"ยังมีธนาคารอีกหลายแห่งในสหรัฐที่ต้องระดมเงินทุน และต้องระดมเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก สหรัฐยังต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในตลาดปล่อยกู้จำนองไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าราคาบ้านจะฟื้นตัวขึ้น ผมเชื่อว่าระบบการธนาคารในสหรัฐยังขาดเงินทุนอีกมาก แม้ผลการทดสอบภาวะวิกฤติ (stress test) ระบุว่ามีเพียง 10 แบงค์ จากทั้งหมด 19 แบงค์ที่ต้องระดมทุนก็ตาม" กรีนสแปนกล่าว

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ยอดชาวอเมริกันที่ขอรับสวัสดิการในระหว่างว่างงานลดลง 12,000 รายในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. สู่ระดับ 631,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ 643,000 ราย อย่างไรก็ตาม จำนวนชาวอเมริกันที่ว่างงานยังคงอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ