นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการ กลุ่มงานการตลาดและงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคมนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีแผนจะรับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ หรือ Derivative Warrants (DW) เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง DW จะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ลงทุน เพราะเป็นตราสารที่อ้างอิงกับราคาหุ้น ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนได้สูงและยังจำกัดผลขาดทุนสูงสุดได้อีกด้วย
หุ้นอ้างอิงของ DW ที่จะซื้อขายในครั้งแรกนั้น จะเป็นหุ้น Top 10 ในกลุ่มดัชนี SET50 ซึ่งมีสภาพคล่องและมีขนาดใหญ่ DW จะมีอายุ 6 เดือน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้ DW ต้องมีผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ในเวลาที่ต้องการ
“ปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์แสดงความสนใจเป็นผู้ออก DW แล้วประมาณ 3-4 ราย ได้แก่ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI บล.ภัทร(PHATRA) บล. กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ KEST บล. บัวหลวง (BLS) โดยขณะนี้มีบริษัทหลักทรัพย์ที่ยื่นขอจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว 1 ราย ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เตรียมการซื้อขาย DW ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว และคาดว่า DW น่าจะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนไทย เช่นเดียวกับการซื้อขาย DW ในตลาดแถบภูมิภาคนี้ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก" นางสาวโสภาวดีกล่าว
DW ที่จะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นี้ มีลักษณะคล้ายกับใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) โดยเป็นตราสารที่ผู้ซื้อจะได้สิทธิในการซื้อหุ้นในราคาและจำนวนที่กำหนด แต่ต่างกันที่ผู้ออก DW ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนเจ้าของหุ้น แต่เป็นบุคคลที่สาม เช่น บริษัทหลักทรัพย์ นอกจากนี้ เมื่อ DW ครบกำหนดอายุ หากผู้ซื้อต้องการใช้สิทธิ ผู้ซื้อจะไม่ได้หุ้นจริง ๆ แต่ได้รับเงินจากผู้ออกเท่ากับส่วนต่างของราคาใช้สิทธิกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่าการชำระเป็นเงินสด (Cash Settlement)