บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น(MLINK)ยอมรับว่ากระแสข่าวลือกลุ่มทุนเกาหลีเจรจาเข้าซื้อหุ้นยังมีมาไม่หยุด แต่บริษัทยืนยันว่าทางกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 กลุ่ม คือ บริษัท เอ็ม แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด และ นายยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ยังถือหุ้นรวมกันประมาณกว่า 50% และไม่เคยได้รับการติดต่อจากกลุ่มทุนที่ว่ามองปีนี้สถานการณ์ธุรกิจไม่ค่อยดีนักหลังโดนสินค้าจีนตีตลาดแย่งแชร์โนเกีย ซึ่งต้นสังกัดก็วางแผนดันสินค้ารุ่นใหม่รวมทั้งแผนการตลาดเพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์คืน
นายพลณรงค์ วัฒนโพธิธร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด MLINK เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทและบรรดาผู้ถือหุ้นไม่เคยได้รับการติดต่อขอซื้อหุ้นจากกลุ่มทุนต่างประเทศรายใด โดยเฉพาะกลุ่มทุนเกาหลีที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่ากลุ่ม LG สนใจเข้ามาซื้อหุ้น
"ยืนยันว่าเรื่องนี้ในส่วนของบริษัทไม่มีแน่นอน ไม่มีอะไรในกอไผ่ ขณะที่บริษัทก็ได้มีการสอบถามไปยังผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 รายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าไม่เคยมีใครหรือกลุ่มใดติดต่อขอซื้อหุ้นเลย ส่วนจะมีการติดต่อไปทางผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ หรือไม่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะแค่ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 รายนี้ก็ถือหุ้นรวมกันอยู่กว่า 50% แล้ว การจะไปติดต่อซื้อจากรายอื่นๆ ให้ได้ 40% ผมว่าเป็นไปได้ยาก แค่จะรวมให้ได้ครึ่งนึงก็ยากมากแล้ว"นายพลณรงค์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายพลณรงค์ กล่าวยอมรับว่า ถ้าราคาหุ้นขึ้นแรงๆ อีกทีก็อาจจะลือกันใหม่ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นการสร้าง Sentiment ในตลาดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีข่าวออกมาเป็นระลอกว่ากลุ่มทุนจากเกาหลีจะเข้ามาซื้อหุ้น MLINK จนกระทั่งตลาดหลักทรัพย์เคยสอบถามว่าและทางบริษัทก็ได้ชี้แจงไปแล้วว่าไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า มีกระแสข่าวเกิดขึ้นในขณะนี้ว่าการเจรจาของกลุ่มทุนเกาหลีที่จะเข้ามาซื้อหุ้น MLINK ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องราคาหุ้น
นอกจากนี้ ทางบริษัทไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในขณะนี้ อีกทั้งธุรกิจก็ยังเดินต่อไปได้ด้วยตัวเองได้ ไม่เคยไปรบกวนผู้ถือหุ้น ส่วนทางบริษัท เอ็ม แคปปิตอล โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของ ก็มองว่าจะใช้เงินตัวเอง เงินกู้ หรืออาจหาเพื่อนมาแชร์เงิน แต่ทุกวันนี้ยังไม่ได้มีการเจรจากับใคร
ส่วนเรื่องซื้อหุ้นคืนในตลาดหลักทรัพย์ นายพลณรงค์ กล่าวว่า ยังไม่ได้มีแผนซื้อหุ้นคืนอย่างเป็นรูปธรรม เพียงแต่เมื่อทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดโอกาสให้บริษัทจดทะเบียนสามารถซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารทางการเงินได้ บริษัทก็แก้ไขระเบียบให้ตรงตามกฎของตลาดหลักทรัพย์
"เรายังไม่ได้มีแผนจะซื้อหุ้นคืน เพียงแต่พอระเบียบตลาดหลักทรัพย์ออกมา ทางคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นก็มองว่าน่าจะแก้ระเบียบให้ตรงกับกฎที่ตลาดหลักทรัพย์เปิดไว้ ส่วนจะทำหรือไม่ทำค่อยว่ากันอีกที คือ..ไม่ได้มีแผนว่าจะซื้อ แค่มาแก้ระเบียบข้อบังคับให้ตรงว่าบริษัทมีสิทธิ์ในการซื้อ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครพูดเรื่องนี้กันเลย ทุกคนก็นั่งดูราคาหุ้นกันก็เห็นว่า Liquidity ก็โอเคนะ เทรดกันหลายล้านหุ้น บางทีก็ 10 กว่าล้าน ก็ถือว่าใช้ได้
ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก็พอใจแล้ว แถมมองในทางกลับกันว่าถ้าบริษัทดูดหุ้นเข้ามาแล้ว Liquidity จะตกมั้ย หรือมองในมุมว่าถ้าบริษัทเหลือเงินจริงๆ แล้วดูดกลับ Value ของหุ้นต้องขึ้นเพราะคนมาแย่ง Dividened น้อยลงไป แต่ก็เป็นการคุยกันในภาพกว้างๆ แต่ไม่ได้มีแผนว่าจะทำ เงินทุนหมุนเวียนที่มีเราก็นำมาใช้ทำธุรกิจอยู่"นายพลณรงค์ กล่าว
นายพลณรงค์ กล่าวว่า บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 500 ล้านบาท และจะพยายามรักษาให้อยู่ในระดับนี้ โดยส่วนใหญ่แหล่งเงินทุนมาจากการขายโทรศัพท์มือถือ ส่วนใหญ่ก็จะนำไปหมุนเวียนใช้ทำธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทยังมีหุ้นเพิ่มทุนอีกประมาณ 150 ล้านหุ้นที่เคยขออนุมัติไว้ว่าจะจัดสรรให้ PP แต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะขายให้ใคร
"ก็ไม่ได้เวิร์คต่อ แล้วเราก็ไม่รีบด้วย เพราะตัวนี้ค้างมา 3 ปีแล้ว ซึ่งถ้าธุรกิจหลักยังหมุนเวียนอยู่แบบนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม มันหมุนของมันเองไปได้เรื่อยๆ"นายพลณรงค์ กล่าว
*รับมือถือราคาถูกจากจีนตีตลาดหนัก ประเมินรายได้อาจลดลง 15-20%
นายพลณรงค์ คาดว่า ปี 52 ตลาดรวมมือถือน่าจะลดลงจากปี 51 ในแง่ของมูลค่า โดยคาดว่ามูลค่าตลาดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ลดลงจาก 4 หมื่นล้านบาทในปีก่อน ขณะที่ในแง่ปริมาณอาจจะลดลงจาก 8.9 ล้านเครื่องในปีก่อนไม่มาก เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้คนหันไปสนใจมือถือราคาถูกที่ผลิตจากประเทศจีนค่อนข้างมาก
บริษัทเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยบริษัทคาดว่ายอดขายมือถือของ MLINK ในปี 52 อาจจะลดลงจาก 2 ล้านเครื่องในปี 51 ตามสภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มยอดขายและรายได้ปี 52 ก็อาจจะลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใช้โทรศัพท์มือถือที่มีราคาถูกลง อีกทั้งสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดค่อนข้างมาก
"ปีนี้เหนื่อยมาก ยอดขายและรายได้ปีนี้อาจจะตดลงมา 15-20% จาก 8.5 พันล้านบาทในปี 51 หรือถ้าคิดเป็นจำนวนเครื่องอาจจะไม่ถึง 2 ล้านเครื่องอย่างปี 51 ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อที่ลดลง อีกส่วนหนึ่งมาจากมีเครื่องจากจีนเข้ามาตีตลาดเยอะ แล้วคนเห็นภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ก็คิดว่าทำยังไงที่จะได้ของคุณภาพ Spec ใกล้เคียงแต่ราคาถูก ส่งผลให้สินค้าจากจีนสามารถแย่งมาร์เก็ตแชร์ไปได้พอสมควร ทำให้มาร์เก็ตแชร์ของโนเกียเริ่ม Drop ลงมา"นายพลณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางโนเกียกำลังวางแผนการตลาดเพื่อจะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมา หลังมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าปีนี้โนเกียน่าจะมีสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าที่เศรษฐกิจจะเกิดวิกฤติ คือประมาณ 30-40 รุ่นต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 3-4 รุ่นต่อเดือน
"ตามโรดแม็ปโนเกียจะต้องเปิดตัวรุ่นใหม่เฉลี่ยเดือนละ 3-4 รุ่น หลังจากอั้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ที่ประมาณไตรมาส 3 ถึงไตรมาส 4 แทบไม่มีรุ่นใหม่ออกมาทำตลาดเลยจนกระทั่งมาเปิดตัว โนเกีย 5800 เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้วก็ทยอยมีรุ่นอื่นๆตามมาเรื่อยๆ"นายพลณรงค์ กล่าว
นายพลณรงค์ ยังหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเป็นช่วงที่เป็นขาขึ้นของมือถือ โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายต่อเนื่องไปจนไตรมาสแรกปี 53 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลใช้เงิน คนจับจ่ายใช้สอย มีการซื้อเป็นของขวัญของรางวัล รวมทั้งโนเกียเองก็มีแผนจะนำสินค้ารุ่นใหม่ๆ ออกมาทำตลาดในช่วงนั้นด้วย ดังนั้น เราจะพยายามประคองยอดขายและรายได้ให้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว
ในส่วนของแผนการตลาด ปีนี้บริษัทอาจจะมีการปิด Shop ที่ทำยอดขายไม่ดี 1 สาขา ซึ่งจะทำให้จำนวน Shop ลดลงเหลือ 20 สาขา แต่มีแผนขยายช่องทางจำหน่ายที่เป็นเคาท์เตอร์ในโมเดิร์นเทรด เช่น Power Buy ที่ปัจจุบันมี 60 แห่ง เพิ่มขึ้นมาจากประมาณ 30 แห่ง ณ สิ้นปี 51 และมีแผนจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 80-90 แห่งในสิ้นปี 52 เนื่องจากสามารถขยายได้รวดเร็วและง่ายกว่าการเปิด Shop และลงทุนน้อยกว่า