นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังศึกษาและวิจัยพันธุ์มันสำปะหลังที่เหมาะสมสำหรับนำไปใช้ผลิตเอทานอล ซึ่งหากผลงานวิจัยออกมาดีจะทำให้ช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผลผลิตราว 3 ตัน/ไร่ ขณะที่กากมันฯ ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นอาหารสุกรได้ด้วย
สำหรับภาพรวมธุรกิจด้านเกษตรของซีพีนั้น มองว่าครึ่งปีแรกยังมีผลประกอบการที่ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจบ้าง แต่ในส่วนของ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) ยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน เนื่องจาก CPF เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นการแปรรูปสินค้าเป็นอาหารสำเร็จรูปมากกว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการสูง จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก
ส่วนครึ่งปีหลังมองว่าธุรกิจของซีพียังสดใส รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก 7-11 ที่ยังไปได้ดี อย่างไรก็ดี ในภาพรวมแล้วคงต้องติดตามสภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
"ธุรกิจของซีพีโดยรวมๆ แล้วผลประกอบการมีผลกระทบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นธุรกิจอาหาร จริงๆ แล้วเรามีผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่มาก แต่ส่วนใหญ่จะมีผลกระทบจาก cycle ของธุรกิจมากกว่า" นายอาชว์ กล่าว
พร้อมมองว่าในปีนี้คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยอาจติดลบราว 4-5% การส่งออกลดลง 15% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0-1% แต่ช่วงนี้ที่เงินเฟ้อติดลบคงเป็นช่วงภาวะสั้นๆ เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และน่าจะกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกได้
นายอาชว์ ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเห็นการฟื้นได้ตัวราวไตรมาส 3-4 หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเห็นผล และรัฐบาลสามารถกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลได้
ด้านนายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร กล่าวว่า จากกระแสความต้องการพืชพลังงานที่ปรับตัวสูง ทำให้เกษตรกรในหลายพื้นที่ปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกผลไม้มาเป็นพืชพลังงานแทน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติพบว่าในปี 48-51 พื้นที่ปลูกส้มลดลง 52,000 ไร่ พื้นที่ปลูกทุเรียนลดลง 45,000 ไร่ พื้นที่ปลูกเงาะลดลง 33,000 ไร่ และพื้นที่ปลูกลิ้นจี่ลดลง 13,000 ไร่
เบื้องต้นพบว่าการลดพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนส่งผลให้ราคารับซื้อในปัจจุบันสูงขึ้น ซึ่งทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีความต้องการของตลาดและมีแนวโน้มจะขยายตลาดส่งออกให้เพิ่มขึ้นได้ ส่วนผลไม้ที่ยังมีปัญหาอายุการเก็บรักษาที่ไม่ยาวนาน เช่น เงาะ ลิ้นจี่ นั้น แม้เกษตรกรจะลดพื้นที่ปลูกลง ก็ไม่ช่วยทำให้ราคารับซื้อปรับตัวดีขึ้นได้มาก อีกทั้งผลไม้ดังกล่าวยังส่งออกได้น้อย
นายมนตรี ยังฝากไปถึงรัฐบาลให้เน้นส่งเสริมเรื่องการเพาะปลูกข้าวมากกว่า เพราะทั่วโลกบริโภคข้าวในแต่ละปีสูงถึง 430 ล้านตัน ซึ่งไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ ดังนั้น หากรัฐบาลมีการวางแผนการผลิตและการส่งออกได้ดีก็จะไม่ทำให้เกิดปัญหาดังเช่นทุกวันนี้ และมองว่าไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีการจำนำหรือประกันราคาข้าว ก็น่าจะได้ผลไม่แตกต่างกัน