ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ใหม่ ITD ระดับ “BBB+"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 4, 2009 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาทของ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่ระดับ “BBB+" พร้อมยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Negative" หรือ “ลบ" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ไปใช้ชำระคืนหนี้เงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทเนื่องจากเป็นการผ่อนภาระการชำระหนี้ระยะใกล้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในการเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนการมีงานที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมาก ความสามารถในการก่อสร้างงานหลากหลายประเภททั้งในประเทศและต่างประเทศ การมีผลงานที่ได้รับการยอมรับ และความชำนาญในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และซับซ้อน ในการให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงของงานก่อสร้างในประเทศที่โดยทั่วไปเป็นสัญญาแบบคงที่ (Fixed-price Contract) รวมทั้งลักษณะของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีความผันผวน การแข่งขันที่รุนแรง และภาระหนี้ของบริษัทที่เพิ่มขึ้นด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" สะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงและผลการดำเนินงานที่อ่อนแอทั้งที่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ภาระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยในปี 2552 และปรับลดลงอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2553 อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากฐานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจเกิดจากต้นทุนงานก่อสร้างที่สูงกว่าประมาณการเป็นอย่างมาก หรือเกิดจากการลงทุนเพิ่มในกิจการที่ไม่ใช่กิจการหลัก หรือการไม่สามารถขายเงินลงทุนได้ทันตามกำหนดเวลา

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สถานะผู้นำทางการตลาดของบริษัทมาจากการมีผลงานเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างมาก การมีสัมพันธภาพที่ดีกับลูกค้าทั้งภาครัฐและเอกชน การประหยัดจากขนาด ความสามารถในการผลิตวัตถุดิบสำคัญที่เพียงพอ การมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ก่อสร้างที่ครบครัน และการมีวิศวกรและแรงงานมีฝีมือจำนวนมาก ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 บริษัทมีรายได้รวม 10,794 ล้านบาท คิดเป็นเกือบ 2 เท่าของรายได้รวมของผู้ประกอบการอันดับสอง ธุรกิจของบริษัทแบ่งสายงานออกเป็น 9 ประเภท โดยมีสาขาในต่างประเทศ 3 แห่งคือประเทศไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินเดีย และมีบริษัทย่อยต่างประเทศ 3 แห่งในประเทศพม่า อินเดีย และอินโดนีเซีย แม้ว่ากลยุทธ์ในการขยายธุรกิจก่อสร้างไปในต่างประเทศจะช่วยให้บริษัทคงรายได้เอาไว้ในช่วงธุรกิจก่อสร้างในประเทศชะลอตัว แต่กลยุทธ์ดังกล่าวก็มีความเสี่ยงในระดับหนึ่งจากการดำเนินธุรกิจในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งเห็นได้จากการมีอัตรากำไรที่ต่ำจากงานก่อสร้างในต่างประเทศ ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 มูลค่างานที่ยังไม่ส่งมอบของบริษัทอยู่ที่ 52,150 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงโครงการชนะการประมูลที่รอลงนามในสัญญาจำนวน 734 ล้านบาท โดยประมาณ 86% ของงานที่ยังไม่ส่งมอบเป็นโครงการของภาครัฐ และ 76% เป็นโครงการในประเทศ

หลังจากประสบปัญหาขาดทุนจากงานก่อสร้างอย่างมากในปี 2551 อัตรากำไรจากงานก่อสร้างของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ก็ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.98% แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 6.31% ของช่วงเดียวกันในปีก่อนอันเป็นผลมาจากการปรับลดลงของอัตรากำไรจากงานก่อสร้างในต่างประเทศที่ลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 0.85% จาก 4.84% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรจากงานก่อสร้างในประเทศปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 8.72% จาก 7.67% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคา) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 8.42% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เปรียบเทียบกับ 7.17% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ปรับลดลง ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 บริษัทไม่มีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการสำรองเผื่อความเสียหายของบริษัทย่อยและค่าใช้จ่ายในการบริหารที่เกิดจากบริษัทย่อยที่จัดตั้งใหม่หรือเพิ่งเริ่มดำเนินการเหมือนในปีที่แล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังมีการโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอีกจำนวน 83 ล้านบาทด้วย

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ภาระหนี้ของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ณ เดือนมีนาคม 2552 ไม่เปลี่ยนแปลงมากนักเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2551 แม้ผลการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 มีการปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทย่อยมีภาระหนี้สูงขึ้น โดยเฉพาะ PT Thailindo Bara Pratama ในประเทศอินโดนีเซียที่กู้เพิ่มเพื่อใช้ในงานก่อสร้าง ภาระหนี้ของบริษัท (รวมถึงภาระผูกพันที่จะต้องให้เงินกู้ยืมแก่นิติบุคคลเฉพาะกิจ) อยู่ที่ 25,177 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 25,118 ล้านบาทเมื่อเดือนธันวาคม 2551 อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 66.8% การมีภาระหนี้ค่อนข้างสูงมีผลทำให้บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ธนาคารซึ่งเป็นแหล่งเงินกู้หลักของบริษัทที่ปรับลดลงส่งผลให้อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 2.3 เท่า เปรียบเทียบกับ 1.66 เท่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ทั้งนี้ บริษัทมีแผนการลดภาระหนี้โดยการขายเงินลงทุนใน Nam Theun 2 Power Co., Ltd. (NTPC) ออกไป อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกรรมดังกล่าวจะดำเนินการเสร็จสิ้นในไตรมาสแรกของปี 2553 เนื่องจากมีข้อจำกัดจากสัญญาของผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินสดระหว่าง 4,200 ล้านบาทถึง 6,000 ล้านบาทจากธุรกรรมดังกล่าวโดยขึ้นอยู่กับการประเมินมูลค่าโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ