(เพิ่มเติม) CPF ปรับเพิ่มคาดการณ์ยอดขายปี 52 โตเป็น 10% จากเคยคาดใกล้เคียงปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 5, 2009 12:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับประมาณการยอดขายในปี 52 โดยคาดว่าจะเติบโตขึ้นในอัตรา 10% จากปี 51 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่ารายได้จะออกมาใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 1.58 แสนล้านบาท และมั่นใจว่าปีนี้จะมีกำไรดีกว่าปีก่อน และสามารถจ่ายเงินปันผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้มากขึ้นด้วย

เนื่องจากมองว่าอนาคตธุรกิจอาหารของบริษัทยังมีโอกาสเติบโตในปีนี้ และมั่นใจการดำเนินนโยบายและกลยุทธ์ที่มาถูกทางส่งผลให้การดำเนินงานในปีนี้โดดเด่นกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง คาดว่าระดับราคาเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน 10-15% ขณะที่ระดับราคาสินค้าเนื้อสัตว์ คาดว่าจะปรับตัวสู่ภาวะปกติและราคาสินค้าส่งออกก็ยังอยู่เกณฑ์ที่ดี

"ผมคิดว่าในปีนี้ยอดขายเราจะโต 5-10% ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดีก็ตาม แต่ผมเชื่อว่าผลการดำเนินงานของเราจะทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพราะ CPF บริหารเรื่องประสิทธิภาพและต้นทุน และมีการสร้างแบรนด์สำหรับอาหารสำเร็จรูป สิ่งเหล่านี้สะท้อนมาที่บริษัทให้เห็นชัดในไตรมาส 1"นายอดิเรก กล่าว

บริษัทยังคาดว่า ในไตรมาส 2/52 ถึงไตรมาส 4/52 จะมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในปีนี้บริษัทจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ 2 ครั้ง

นายอดิเรก กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนสร้างฟาร์มสุกรในประเทศรัสเซีย วงเงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท หลังจากที่ได้เปิดโรงานอาหารสัตว์ เพื่อดำเนินธุรกิจสุกรครบวงจร โดยกำหนดเป้าหมายแผนงานว่าภายใน 5 ปีจะสามารถผลิตสุกรขุนจำนวน 1 ล้านตัวต่อปี และก้าวต่อไปคาดว่าจะขยายการลงทุนไปยังยูเครนและยุโรปตะวันอออก

การลงทุนในรัสเซีย ถือเป็นประเทศที่ 8 โดยมองว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ เพราะมีประชากรสูงถึง 130 คน และมีความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์มาก ที่ผ่านมามีการนำเข้าเนื้อหมูและไก่ประมาณ 7 แสนตัน และ 1 ล้านกว่าตัน ตามลำดับ บริษัทจึงเห็นว่าการลงทุนในรัสเซียน่าจะคุ้มค่า และมีแผนที่จะสร้างธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ต่อไปด้วย

ด้านนายไพศาล จิระกิจเจริญ กรรมการบริหารและประธานผู้บริหารฝ่ายการเงิน CPF กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะใช้งบลงทุนในประเทศประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต ส่วนกิจการในต่างประเทศได้ตั้งงบลงทุนไว้ 2.5 พันล้านบาท

การลงทุนในต่างประเทศ แบ่งเป็นลงทุนแปรรูปไก่ที่ตุรกี 500 ล้านบาทจะเริ่มลงมือก่อสร้างโรงงานในเดือน ส.ค.นี้ และแล้วเสร็จในครึ่งแรกของปี 53 มีกำลังการผลิต 600 ตันต่อเดือน โดยจะผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และในอนาคตจะเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรป ปัจจุบัน โควต้าส่งออกไก่ของไทยไปยังยุโรปใกล้ชนเพดานที่ 1.6 แสนตันแล้ว

การลงทุนสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกในอินเดีย 2 แห่ง 500 ล้านบาท จะมีกำลังผลิตรวมกัน 1.8 หมื่นตัน ตั้งอยู่ในเมือง Vellore จะสร้างเสร็จภายในปีนี้ ส่วนโรงงานในเมือง Pune จะสร้างเสร็จในปี 53และ ลงทุนตั้งฟาร์มหมูในรัสเซีย 1 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้กำลังคัดเลือกผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างฟาร์ม 2 แห่ง

ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และลาว เพื่อปรับปรุงเครื่องจักรในโรงงานอาหารสัตว์น้ำ นอกจากนั้น บริษัทยังมองโอกาสการเข้าไปลงทุนในยูเครนและยุโรปตะวันออกด้วย

นายพงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ CPF เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขยายโรงงานอาหารสัตว์น้ำเพิ่มอีก 1 แห่งที่เมืองมุมไบ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 400-500 ล้านบาท กำลังผลิตประมาณ 5-8 หมื่นตันต่อปี และปัจจุบันบริษัทมีโรงงานอาหารสัตว์น้ำอยู่แล้ว 1 แห่ง กำลังผลิต 8 หมื่นตัน/ปี และในช่วงนี้การเลี้ยงกุ้งในอินเดียได้ผลผลิตสูงขึ้น มองว่าน่าจะขยายโรงงานเพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้กำลังมองหาสถานที่ และน่าจะลงทุนในปี 53

ด้านนายไพศาล กล่าวว่า ธุรกิจในตุรกีจะกลับมามีกำไรหลังจากที่ตลาดเนื้อไก่กลับมาดีขึ้นจากซัพพลายที่น้อยลง และมีการส่งออกไปยังอิรักด้วย ในปีนี้คาดว่ารายได้จากการลงทุนในต่างประเทศมีสัดส่วนประมาณ 15% จากรายได้รวม โดยตุรกีจะมีสัดส่วนรายได้มากที่สุดถึง 10% แต่อนาคตรัสเซียก็จะเป็นประเทศที่สำคัญรองลงมา คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีสัดส่วนรายได้ถึง 8%

นายไพศาล กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 14% สูงกว่า 13% ในปี 51 และคาดว่าทั้งปีการเติบโตของกำไรสุทธิจะสูงกว่าการเติบโตของรายได้ เนื่องจากราคาวัตถุดิบลดลง และบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากากถั่วเหลืองไปถึงไตรมาส 4/52 ประกอบกับ บริษัทได้บริหารจัดการลดระยะเวลาการเก็บสต็อก

นอกจากนี้ คาดว่าในปีนี้หนี้สินจะลดลงมาเหลือ 4.0-4.2 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้ จาก 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 51 ขณะนี้เหลืออยู่ 4.4 หมื่นล้านบาทแล้ว

ส่วนการออกหุ้นกู้ขณะนี้รอดูภาวะตลาด โดยเฉพาะต้นทุนการเงิน ซึ่งแผนเดิมคาดว่าจะออกไม่เกิน 5 พันล้านบาท เพื่อนำไปใช้รีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปีนี้ แต่เนื่องจากขณะนี้ธนาคารได้ยื่นข้อเสนอที่ดีกว่าการออกหุ้นกู้ บริษัทจึงใช้เงินกู้จากธนาคาร 5 พันล้านบาททดแทนไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ