ทริส คงอันดับเครดิตองค์ก รHEMRAJ ที่ A-,เปลี่ยนแนวโน้มเป็น Negative

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 11, 2009 08:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเปลี่ยนแนวโน้มอับดับเครดิตของ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJเป็น “Negative" หรือ “ลบ" จาก “Stable" หรือ “คงที่" ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ปรับลดลงอันเนื่องมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มความต้องการที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องไปอีกหลายปี ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A-“ โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนรายได้จากบริการสาธารณูปโภคที่แน่นอน และโครงสร้างทางการเงินที่อยู่ในระดับดี

สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative" หรือ “ลบ" ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ถดถอยลงอันสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวอย่างมากของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในขณะที่บริษัทมีรายจ่ายฝ่ายทุนตามข้อผูกพันจำนวนมากนั้น แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวอาจเปลี่ยนเป็น “Stable" หรือ “คงที่" ได้หากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวอย่างมั่นคงจนใกล้ระดับปกติ แต่หากเศรษฐกิจถดถอยยาวนานกว่าที่คาดการณ์และฐานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงต่อไปอีก อันดับเครดิตของบริษัทก็อาจถูกปรับลดลงได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของไทยซึ่งก่อตั้งในปี 2531 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2535 ณ วันที่ 17 มีนาคม 2552 กลุ่มตระกูลหอรุ่งเรืองถือหุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.4% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด รองลงมาได้แก่ Credit Agricole (Suisse) SA สาขาประเทศสิงคโปร์ (9.1%) และ Nomura Singapore Ltd. (6.9%) นอกจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการให้บริการสาธารณูปโภคแล้ว บริษัทยังพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมหรูในใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่รายได้จากบริการสาธารณูปโภคและค่าเช่าโรงงาน (21%) และรายได้จากคอนโดมิเนียม (26%) มีสัดส่วนไม่มากนัก

บริษัทเป็นเจ้าของและบริหารนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ชลบุรี และสระบุรี โดยมีพื้นที่รวมทั้งหมด 31,314 ไร่ ในช่วงปี 2550-2551 บริษัทมียอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยจำนวน 1,400 ไร่ต่อปี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 มียอดขายที่ดินสะสมรวม 13,811 ไร่ ในจำนวนลูกค้าทั้งหมด 394 ราย 33% เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และ 12% เป็นลูกค้าในกลุ่มปิโตรเคมี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีพื้นที่เหลือขาย 9,934 ไร่ โดยประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด (H-ESIE) ซึ่งปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์

จากรายงานของ CB Richard Ellis (CBRE) ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมโดยรวมทั้งประเทศในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 มีเพียง 89 ไร่ ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 1,192 ไร่ในช่วงเดียวกันของปี 2551 ทั้งนี้ เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยลงอย่างชัดเจนจนกระทบต่อผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการทุกรายในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทลดลงเหลือเพียง 6 ไร่ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายโรงงาน ในขณะเดียวกันกับที่อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 38.1% สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 52.3% สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 34.5% สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และ 46.4% สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีรายได้จากบริการสาธารณูปโภคที่แน่นอนจากลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม โดยในช่วง 3 เดือน แรกของปี 2552 บริษัทมีรายได้จากบริการสาธารณูปโภค 172 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จาก 155 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 และใกล้เคียงกับ 169 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2551 ปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้วและมีมูลค่าคงเหลือเท่ากับ 1,400 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกของปี 2552 บริษัทยังไม่มียอดขายใหม่จากคอนโดมิเนียมและโรงงานสำเร็จรูป ในขณะที่มีลูกค้ายกเลิกสัญญาซื้อคอนโดมิเนียมและยกเลิกสัญญาเช่าโรงงานก่อนครบกำหนดไปบ้างแล้ว

บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินมีความต้องการเงินทุนไม่มากในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและโครงการที่พักอาศัย อย่างไรก็ตาม บริษัทมีข้อผูกพันที่จะต้องชำระเงินจำนวน 4,700 ล้านบาทสำหรับการลงทุน 35% ในโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (Independent Power Producer -- IPP) ขนาด 660 เมกะวัตต์ที่ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว ปัจจุบันบริษัทได้สำรองเงินลงทุนดังกล่าวไว้แล้วจำนวน 2,060 ล้านบาท สำหรับอีกจำนวน 2,600 ล้านบาทนั้น บริษัทจะทยอยจ่ายในปี 2553 และ 2554 แม้ว่าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าจะช่วยให้บริษัทมีแหล่งรายได้จากเงินปันผลที่แน่นอนนับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป แต่เงินลงทุนจำนวนมากถึง 4,700 ล้านบาทในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทเหมราชพัฒนาที่ดินยังคงมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีเงินสดที่ไม่มีภาระผูกพัน 1,020 ล้านบาท และมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 300 ล้านบาท นอกเหนือจากเงินกู้ยืมระยะสั้นประเภทตั๋วแลกเงินจำนวน 700 ล้านบาทแล้ว บริษัทยังมีภาระหนี้ที่ต้องจ่ายชำระอีกประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2552-2553 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 บริษัทมีเงินกู้รวมเท่ากับ 3,548 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งที่ระดับ 30.26% การมีรายได้ที่แน่นอนจากบริการสาธารณูปโภค ค่าเช่า และค่าบริการประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่แผนการลงทุนต้องใช้งบประมาณราว 1,800-2,000 ล้านบาทต่อปีและการมีภาระในการชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดประมาณ 300 ล้านบาทต่อปีอาจทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทในช่วงปี 2552-2553 เพิ่มสูงยิ่งขึ้น แต่จะยังคงต่ำกว่านโยบายของบริษัทที่กำหนดให้ต่ำกว่า 1 เท่า

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันกับที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ไม่แน่นอนยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติระงับแผนการลงทุนใหม่ๆ และชะลอการขยายการลงทุนที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ แนวโน้มของธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระยะสั้นจะถดถอยลงอย่างมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ