นายชูเกียรติ โพธยานุวัตร ว่าที่ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) คาดว่า จะเจรจาต่อรองราคาค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 2 ลงมาไม่ต่ำกว่า 12% จากที่ บมจ.ซิโนไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) เสนอราคาต่ำสุดที่ 15,320 ล้านบาท โดยเป็นอัตราส่วนที่มีการเจรจาต่อรองลดราคาค่าก่อสร้างโครงการในสัญญา 1 ในช่วงก่อนหน้านี้
หลังจากได้ข้อยุติเรื่องราคาแล้วจะทำรายงานส่งให้ไจก้าซึ่งเป็นผู้ให้กู้พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์
"เท่าที่ดูตัวเลขแล้วคิดว่าวงเงินก่อสร้างใกล้เคียงกับกรอบวงเงินที่ ครม.อนุมัติ และขณะนี้สถานการณ์ต่างๆ เริ่มนิ่ง เชื่อว่าจะสามารถเจรจาต่อรองได้ง่ายขั้น" นายชูเกียรติ กล่าว
อนึ่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเมีกรอบวงเงินค่าก่อสร้างทั้งโครงการรวม 3.6 หมื่นล้านบาท แยกเป็น สัญญา 1 จำนวน 1.35 หมื่นล้านบาท, สัญญา 2 จำนวน 1.26 หมื่นล้านบาท, สัญญา 3 จำนวน 6 พันล้านบาท และงานระบบรางอีก 4 พันล้านบาท
สำหรับการเปิดซองประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 3 ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ น่าจะมีขึ้นราวปลายสัปดาห์หน้า ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาจะไม่เปิดซองของ STEC เนื่องจากเห็นว่ามีความสามารถทำได้แค่งานเดียว
ดังนั้น จึงเหลือเอกชนแค่ 4 รายที่จะร่วมประกวดราคาสัญญาที่ 3 ได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD), กลุ่ม CKTC Jointventure ประกอบด้วย บมจ.ช.การช่าง(CK) และ บริษัท โตคิว คอนสตรัคชั่น จำกัด, กลุ่มทาเกนากะ-ฤทธา จอยท์เวนเจอร์ และ กลุ่มพีเออาร์จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บมจ. เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง(PLE) บมจ.แอสคอน คอนสตรัคชั่น(ASCON) และบริษัท รวมนครก่อสร้าง(ประเทศไทย) จำกัด
ว่าที่ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ในส่วนของงานก่อสร้างระบบรางยังไม่สามาถเปิดประกวดราคาได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังไม่ได้รับอนุมัติเรื่องเงินกู้จากต่างประเทศ แต่เชื่อว่าจะได้รับคำตอบในเร็วๆ นี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้หลังจากเซ็นสัญญา 1-2 แล้วไม่เกิน 8 เดือน
ขณะที่ ตัวแทนของ STEC ระบุว่า พร้อมเปิดทางให้ รฟม.เจรจาต่อรองลดราคาค่าก่อสร้างลง เนื่องจากการยื่นซองประกวดราคาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญา 2 ที่ราคา 15,320 ล้านบาท เป็นการคำนวณตามราคาต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างเมื่อ ส.ค.51 ซึ่งขณะนั้นอยู่ในระดับราคาสูง
ว่าที่ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า โครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนดไว้ราว 4 เดือน โดยคาดว่าจะเซ็นสัญญา 1 กับภาคเอกชนได้ราวเดือน ก.ค.52 หลังได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว และคาดว่าโครงการนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในระยะเวลา 4 ปีครึ่ง หรือราวปลายปี 56 หรือต้นปี 57
ส่วนการจัดหาตัวรถไฟฟ้าและวางระบบอาณัติสัญญาณมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท ที่จะเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนนั้น ขณะนี้ รฟม.ได้ส่งเรื่องไปให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเปิดประมูลได้เสร็จเรียบร้อยภายในปีนี้