ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ MINT ที่ “A" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 12, 2009 08:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) ที่ระดับ“A"พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ชุดปัจจุบันของที่ระดับ“A"โดยแนวโน้มยังคง“Stable" หรือ“คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความหลากหลายของธุรกิจซึ่งมีแบรนด์สินค้าและบริการเป็นที่ยอมรับซึ่งช่วยเสริมให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารบริการด่วน รวมถึงการมีคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ธุรกิจรับจ้างบริหารโรงแรมที่เติบโตอย่างดีในต่างประเทศ และโอกาสในการขยายธุรกิจอาหารบริการด่วนผ่านการให้แฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ

แต่จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากภาวะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ซบเซาอันสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ ลักษณะของธุรกิจโรงแรมที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย รวมทั้งจากลักษณะของธุรกิจอาหารบริการด่วนที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและมีอัตรากำไรที่ต่ำ นอกจากนี้ การที่บริษัทขยายการลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมากยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

แนวโน้มอันดับเครดิต“Stable"หรือ“คงที่"อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความแข็งแกร่งของกระแสเงินสดเพื่อนำไปใช้สนับสนุนรายจ่ายฝ่ายทุนที่บริษัทมีภาระผูกพันในอนาคตได้ โดยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 52 จะอ่อนตัวลงจากการที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทจะมีผลประกอบการของทั้งปี 52 ใกล้เคียงกับปี 51 เนื่องจากคาดว่าธุรกิจโรงแรมของบริษัทจะกลับฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 52 โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีโครงการโรงแรมและที่อยู่อาศัยที่ยังต้องพัฒนาอยู่ ทั้งนี้ หากบริษัทมีการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากก็อาจกระทบทำให้คุณภาพเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงได้

ทริสเรทติ้ง รายงานว่า MINT ก่อตั้งโดย Mr. William Ellwood Heinecke ในปี 21 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยตระกูล Heinecke เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 49.8% ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาบริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกิจการโรงแรมจนปัจจุบันถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงแรมกระจายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจำนวนทั้งหมด 27 แห่ง รวม 3,200 ห้องซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ ศรีลังกา แทนซาเนีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม โรงแรมเหล่านี้บริหารและดำเนินงานภายใต้เครือโรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น Mariott และ Four Seasons และภายใต้เครือโรงแรมของบริษัทเองคือ Anantara Elewana และ Naladhu

ธุรกิจอาหารบริการด่วนของกลุ่มไมเนอร์ดำเนินการภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือคือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (MFG) ซึ่งก่อตั้งในปี 23 และเป็นผู้ให้บริการธุรกิจอาหารบริการด่วนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย MFG เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการอาหารบริการด่วนแบบแฟรนไชส์ของต่างประเทศมากถึง 7 แบรนด์ ได้แก่ สเวนเซ่นส์ ซิซซ์เล่อร์ แดรี่ ควีน และ เบอร์เกอร์ คิง รวมทั้ง เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เดอะค็อฟฟีคลับ และ ไทยเอ็กเพรส ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้าของบริษัทเอง

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 52 MFG มีร้านอาหารเปิดให้บริการรวมมากกว่า 600 แห่ง ตลอดจนร้านแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ย่อยอีกประมาณ 400 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ล่าสุดบริษัทประกาศแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อนำธุรกิจของ บมจ.ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น(MINOR) ซึ่งประกอบด้วย แฟชั่น เครื่องสำอาง และโรงงานรับจ้างผลิตเข้ามาอยู่ภายใต้เครือของบริษัท หลังการปรับโครงสร้างซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 52 ตระกูล Heinecke จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งมีอำนาจบริหารงานบริษัทเช่นเดิม

MINT มีรายได้จากธุรกิจโรงแรมและอาหารบริการด่วนประมาณ 90% ของรายได้รวม เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจ 2 ประเภทแล้ว บริษัทมีฐานรายได้ที่กว้างขวางและหลากหลายกว่า อีกทั้งยังขยายตัวเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รายได้รวมของบริษัทขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% เป็น 15,814 ล้านบาทในปี 51 จาก 11,716 ล้านบาทในปี 49 จากผลของการเพิ่มสาขาในธุรกิจอาหารบริการด่วนและผลประกอบการที่มั่นคงจากธุรกิจโรงแรมก่อนไตรมาสสุดท้ายของปี 51

ทว่าในช่วง 3 เดือนแรกของปี 52 รายได้ของบริษัทลดลง 2% เป็น 4,118 ล้านบาท จาก 4,185 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 51 เนื่องจากในช่วงดังกล่าวรายได้ต่อห้องพักที่มีอยู่ (Revenue Per Available Room-RevPAR) จากโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของลดลงถึง 28% เหลือ 3,892 บาท จาก 5,405 บาทต่อคืนในช่วงเดียวกันของปี 51 เป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

ในส่วนธุรกิจอาหารบริการด่วน ซึ่งนอกจากบริษัทจะให้ความสำคัญกับการขยายกิจการโดยการเปิดสาขาและให้แฟรนไชส์แล้ว บริษัทยังซื้อกิจการของแบรนด์อื่นเพิ่มด้วย จึงคาดว่าธุรกิจดังกล่าวน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้จากการซื้อกิจการ เดอะค็อฟฟีคลับ และ ไทยเอ็กเพรส ในปีก่อน

ทั้งนี้ จำนวนร้านอาหารของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 553 สาขาในปลายปี 50 เป็น 656 สาขาในปลายเดือนมีนาคม 52 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของยอดขายของสาขาเดิมเติบโตเพียง 0.1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 52 และในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระดับหนี้ของบริษัทเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงที่อยู่ในระดับประมาณ 40% แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 50% ในปลายปี 52 จากการก่อสร้างโรงแรม 2 แห่งของบริษัท

ทริสเรทติ้งยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศว่าได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยและสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบนับตั้งแต่ปลายปี 51 จนถึงกลางเดือนเมษายน 52 ซึ่งเกิดจราจลในกรุงเทพฯ จากการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล จึงคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2/52 จะยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรกที่ลดลงถึง 15% และยังคาดว่าน่าจะเติบโตในอัตราติดลบเมื่อสิ้นปี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวม และจะทำให้ผลประกอบการของธุรกิจโรงแรมอ่อนตัวลง ผู้ประกอบการที่มีปัญหาทางการเงินต้องขายกิจการ ทำให้เป็นโอกาสในการลงทุนของผู้ประกอบการที่มีแหล่งเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อกิจการ

ทั้งนี้ การดำรงสภาพคล่องที่เพียงพอและการมีความยืดหยุ่นทางการเงินถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กิจการโรงแรมอยู่รอดได้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้น การกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่อาจส่งผลกระทบทำให้ฐานะการเงินและสถานะเครดิตของผู้ประกอบการลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ