แหล่งข่าวระดับผู้บริหาร บมจ.ศรีอยุธยาประกันภัย(AYUD)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของเบื้ยประกันในปี 52 ไว้ประมาณ 8% ซึ่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาบริษัทฯมีเบื้ยประกันราว 582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่แล้ว(เม.ย.51)ที่มีเบี้ยประกัน 552 ล้านบาท
ในปีนี้บริษัทเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะร่วมทำการตลาดกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ซึ่งล่าสุดได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้เป็น KRUNGSRI Auto Prompt 3+ หรือประกันภัยชั้น 3 และจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอีกอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคงจะต้องเดินเรื่องขอการอนุมัติจากทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาด้วย
"คือตอนนี้ product ใหม่ ๆ ของบริษัทฯ คงจะออกมาในลักษณะของ personal line พวกประกันรถยนต์ส่วนบุคคล ที่ทำร่วมกันกับธนาคารกรุงศรีฯ ขายผ่านทางธนาคาร ตอนนี้รู้สึกว่าบริษัทประกันที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับแบงก์ก็จะมีการขยายตัวนี้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไทยพาณิชย์ หรือ กรุงเทพ หรือนครหลวงไทย ก็พยายามจะขายประกันด้วยกันทั้งนั้น"แหล่งข่าว กล่าว
ผู้บริหาร AYUD กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้าสัดส่วนของลูกค้าที่ทำประกันรถยนต์อยู่ในช่วง 30-35% จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ประมาณ 29% ขณะที่ลูกค้าประกันอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งรวมทั้งประกันอัคคีภัยและประกันภัยทรัพย์สิน ส่วนลูกค้าที่ทำประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีสัดส่วนประมาณ 15% ส่วนที่เหลือก็เป็นเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ
"มาร์เก็ตแชร์ของบริษัทขณะนี้มีอยู่ประมาณเกือบ 20% ของทั้งระบบประกัน เราก็ยังคงตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปตามปกติ เรามองว่าการประกันรถยนต์นั้นมี Loss สูง มีความเสียหายเกิดขึ้นบ่อย เราพยายามจะรักษาสัดส่วนไว้ไม่เกิน 30% ของพอร์ต ตอนนี้อยู่ที่ 29% เมื่อสิ้นเดือนเม.ย.52 อย่างมากก็ไม่เกิน 35% คือควรจะมีเบี้ยประกันให้ balance กันพอสมควร ไม่ใช่อันใดอันหนึ่งโต"
*ปีนี้พอร์ตลงทุนของบริษัทฯคงจะไม่ดีไปกว่าปีที่แล้ว แต่ถือเงินสดเผื่อจ่ายปันผล
ผู้บริหาร AYUD เปิดเผยว่า พอร์ตการลงทุนของบริษัทฯในปีนี้คงจะไม่ได้ดีไปกว่าปีที่แล้ว(2551) แม้ว่าภาวะตลาดหุ้นไทยจะมีการฟื้นตัวขึ้น แต่ปัจจัยอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว
"บริษัทฯมีพอร์ตการลงทุนเหมือนบริษัทประกันอื่น ๆ และการลงทุนต่าง ๆ ของบริษัทฯก็มีข้อกำหนดของทางการอยู่แล้วที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งพอร์ตลงทุนของเราไม่ได้ลงทุนเพื่อเล่น Speculate อยู่แล้ว เราลงทุนอะไรที่ค่อนข้างจะมั่นคง แล้วก็จะหวังในเรื่องของผลตอบแทนมากกว่าที่จะหวังในเรื่องของราคา"ผู้บริหาร AYUD กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังหวังว่าจะสามารถจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการในปีนี้ แม้ไม่ได้คาดหวังว่าผลประกอบการจะออกมาดีนัก เนื่องจากบริษัทก็ยังมีเงินสดบางส่วนที่ถือไว้
"ปีที่แล้ว(2551)จ่ายเงินปันผลไป 1 บาท/หุ้น คิดผลตอบแทนประมาณ 6-7% ซึ่งเรามีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลทุกปี ปีละ 2 ครั้ง...ปีที่แล้วเราจ่ายเงินปันผลน้อย เพราะเราเกรงว่าปีนี้ผลประกอบการจะไม่ดีนัก ก็เลยเก็บเงินบางส่วนไว้ก่อน เผื่อปีนี้มันไม่ดีเราจะได้จ่ายได้อีก"ผู้บริหาร AYUD กล่าว
*มั่นใจเงินกองทุนกว่า 5 พันลบ.จะสามารถรองรับเกณฑ์ใหม่ RBC ได้
ผู้บริหาร AYUD กล่าวอีกว่า ปัจจุบันบริษัทมีเงินกองทุนอยู่กว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเก็บไว้เพื่อให้บริษัทฯมีความมั่นคง โดยเฉพาะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับในอนาคตที่จะรองรับหากมีการใช้เกณฑ์ดำรงเงินกองทุนตามความเสี่ยง (Riskbased Capital : RBC)ซึ่งตัวเงินกองทุนฯเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย
"ขณะนี้เกณฑ์ตัวนี้ยังไม่ได้กำหนดออกมาแน่ชัดว่าเงินสำรองส่วนนี้จะประกอบด้วยอะไรบ้าง เกณฑ์ RBC ยังพิจารณาไม่เสร็จ"ผู้บริหาร AYUD กล่าว
อนึ่ง RBC เป็นการดำรงเงินกองทุนตามสภาพความเสี่ยง ซึ่งบริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทมีสภาพความเสี่ยงต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะงาน ประเภทงาน รวมถึงไปถึงสัญญาประกันภัยต่อที่จัดทำไว้ ถ้าบริษัทประกันภัยแห่งใดจัดโปรแกรมการประกันภัยต่อตามสัญญา(Treaty Reinsurance) ไว้ดีเท่ากับมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรับความเสี่ยงภัยได้มากขึ้นโดยไม่ต้องเพิ่มเงินกองทุนตามเงื่อนไข RBC และการทำประกันภัยต่อที่เหมาะสมก็จะช่วยลดเงินกองทุนลงได้ส่วนหนึ่งด้วย
*มองกระตุ้นราคาหุ้นไปก็ไม่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ถือลงทุนยาว
ผู้บริหาร AYUD กล่าวถึงการเทรดหุ้น AYUD ว่า การกระตุ้นราคาหุ้น AYUD ให้มีการเทรดมากขึ้นนั้นไม่มีความจำเป็น เพราะผู้ที่ลงทุนในหุ้นธุรกิจประกันภัยส่วนใหญ่เป็นผู้ลงทุนระยะยาว ไม่ใช่กลุ่มที่เข้ามาซื้อเก็งกำไรหรือซื้อมาขายไป แต่เป็นผู้ที่ถือหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล
"คิดว่ากระตุ้นไม่ได้นะ ผมคิดว่าคนซื้อเพื่อเก็งกำไรคงจะไม่สนใจ แต่ถ้าคนที่จะซื้อเพื่อเอาเงินปันผลเนี่ย ซื้อแล้วก็ไม่ขาย อย่างบางคนซื้อไว้ตอน 10 กว่าบาทจนราคาปรับตัวขึ้นไปถึง 18 บาท เขาก็ยังไม่ขายเลย"แหล่งข่าว กล่าว
"ธุรกิจประกันให้ผลตอบแทนที่ไม่ค่อยหวือหวานัก หุ้นประกันเองก็ไม่หวือหวา ไม่ค่อยมีใครซื้อ ไม่ค่อยมีใครขาย ส่วนใหญ่ซื้อไว้เก็บกินปันผลระยะยาวไปเลย รอให้ราคา double ไปเลยแล้วค่อยขายสักทีหนึ่ง ส่วนใหญ่ถือยาว จะมีก็พวกต่างชาติที่ถือสั้นหน่อย อย่างเมื่อตอนที่หุ้นเราอยู่ที่ 18 บาท แล้วไหลลงมาเหลือ 12 บาท เป็นช่วงที่ต่างชาติขายกัน เพราะเศรษฐกิจของเขาไม่ดีเมื่อปลายปีที่แล้ว(2551) ซึ่งทั่วโลกปรับตัวลง"แหล่งข่าว กล่าว